ซีพีเอฟ แนะวิธีเลี้ยงสัตว์หน้าร้อน ลดผลกระทบเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2012 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--CPF นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สภาวะอากาศที่ร้อนจัดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลานิลและปลาทับทิม ซึ่งปกติอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาอยู่ที่ประมาณ 26-30 องศาเซลเซียส จึงมีคำแนะนำสำหรับการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูร้อนเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกร นายอดิศร์ กล่าวว่า ช่วงนี้เกษตรกรต้องเอาใจใส่ดูแลการเลี้ยงปลาเป็นพิเศษ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปลา โดยการลดอุณหภูมิของน้ำ สำหรับการเลี้ยงนิลและปลาทับทิมในกระชัง ควรใช้สแลนด์ดำคลุมบ่อ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิและลดความเครียดจากแสง (light stress) ที่เกิดจากการถูกแสงแดดจ้ามากส่องกระทบโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปลากินอาหารลดลง โตช้าและป่วยในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร ทำความขุ่นใส 40-50 เซ็นติเมตร ทั้งนี้ น้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้น ออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง จึงต้องวัดค่า DO บ่อยครั้งขึ้น สำหรับการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ ต้องมีระบบป้องกันโดยการทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากในฤดูร้อนพาราไซต์และแบคทีเรียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีอาหารในธรรมชาติมาก รวมทั้งต้องกำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ซึ่งจะกีดขวางทางการไหลของน้ำผ่านกระชัง ทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในบ่อ ต้องติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อช่วยเติมอากาศในน้ำอย่างเหมาะสม และควรเปิดตลอดเวลา โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อให้น้ำมีการผสมกันตลอดตามแนวลึกของบ่อไม่เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ ช่วยให้อุณหภูมิน้ำไม่สูงจนเกินไป ในส่วนของการให้อาหาร ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม โดยปรับปริมาณการให้อาหารในแต่ละมื้อลง ให้อาหารทีละน้อยเท่าที่ปลากินหมด และควรปรับเปลี่ยนเวลาการให้อาหารช่วงเช้าเร็วขึ้น ประมาณ 07.00-08.00 น. ในระหว่างวันควรให้อาหารตามปริมาณที่ปลากินได้หมด และช่วงเย็นควรให้หลังจาก 18.00 น. ทั้งนี้ ต้องสังเกตปริมาณอาหารที่เหลือลอยบนผิวน้ำ หากมีปริมาณมากควรปรับลดอาหารให้พอเหมาะ นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพปลาโดยการสุ่มตรวจพาราไซต์ทุกๆสัปดาห์ และใช้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เหมาะสม โดยวัดได้จากค่าของแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 ppm ด้าน น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่และสุกรในช่วงฤดูร้อนว่า เกษตรกรควรปรับสภาพในโรงเรือนให้มีอากาศที่ดีขึ้น โดยใช้พัดลมช่วยระบายอากาศ พร้อมเพิ่มน้ำหยดให้กับแม่สุกร รวมทั้งขังน้ำในรางอาหาร เพี่อให้สุกรได้ดื่มอย่างสะดวกและเพียงพอ สำหรับกรณีที่อากาศร้อนจัดสามารถติดตั้งสปริงเกอร์บนหลังคา ซึ่งจะช่วยลดความร้อนได้ระดับหนึ่ง และอาจติดตั้งสเปรย์น้ำในโรงเรือนเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยบรรเทาความร้อนลงได้ แต่ไม่ควรเปิดตลอดเวลา เพราะจะทำให้สุกรป่วยได้ ส่วนการเลี้ยงไก่ไข่นั้น สามารถช่วยลดอุณหภูมิได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับสุกร โดยเฉพาะการระบายอากาศด้วยการสเปรย์น้ำในโรงเรือน แต่ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปจนทำให้พื้นแฉะ และมีกลิ่นก๊าซแอมโมเนีย อนึ่ง ในช่วงอากาศร้อน อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนและน้ำไม่สะอาด จึงแนะนำให้ใช้คลอรีน 2-3 ppm ผสมในน้ำ เพื่อให้น้ำสะอาดไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ได้ นอกจากนี้ สามารถเสริมวิตามินซีทางน้ำให้สุกรและไก่ไข่ได้ เพื่อลดความเครียดจากอากาศร้อนและเพิ่มความต้านทานโรค.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ