สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กับบทบาทใหม่ในเวที ASEAN+3

ข่าวทั่วไป Monday May 7, 2012 22:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะกรรมการอำนวยการบริหาร (Board of Directors) ในหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุนแห่งภูมิภาคอาเซียน+3 (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF) และประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมฯ ได้แต่งตั้งให้นาย Zhu Xinqiang รองประธาน The Export-Import Bank of China ซึ่งเป็นผู้แทนจากรัฐบาลจีน เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และได้แต่งตั้งให้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอำนวยการบริหาร ดำรงตำแหน่งประธานผู้ถือหุ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารได้ประกาศการเริ่มต้นให้บริการการค้ำประกันหุ้นกู้ภาคเอกชนอย่างเป็นทางการแล้ว โดย Chief Executive Officer (CEO) ของ CGIF ได้รายงานให้คณะกรรมการอำนวยการบริหารทราบว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจำนวน 88 รายจาก 8 ประเทศแจ้งความจำนงขอใช้บริการแล้ว และมีกำหนดจะเริ่มค้ำประกันโครงการแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับ CGIF เป็นกลไกความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค ASEAN+3 จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อทำหน้าที่ให้บริการค้ำประกันหุ้นกู้ของภาคเอกชนเพื่อยกระดับของหุ้นกู้นั้นให้มีอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถระดมเงินทุนได้โดยมีต้นทุนที่ลดลงและกู้ได้ยาวนานขึ้นสอดรับกับการคืนทุนของกิจการ จึงทำให้ลดปัญหาเรื่องความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำของระยะเวลาการให้เงินกู้และระยะเวลาการลงทุนของกิจการ (Maturity Mismatch) และช่วยลดปัญหาความความเสี่ยงจากการกู้เงินสกุลหนึ่งเพื่อนำไปใช้จ่ายและลงทุนเป็นอีกสกุลหนึ่ง (Currency Mismatch) ขึ้นมาอีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งทั้งสองประการนี้เป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 02-271-7999 ต่อ 5804, 5807 www.pdmo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ