กทม. ตรวจการระบายน้ำในคลองสามเสนป้องกันปัญหาน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Thursday June 3, 2004 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กทม.
ดร.สหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำและผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่สถานีสูบน้ำคลองสามเสน เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.47 ที่ผ่านมาว่า ตนและคณะได้ลงเรือเพื่อตรวจสภาพคลองสามเสนตั้งแต่สถานีสูบน้ำคลองสามเสน (ตอนแม่น้ำเจ้าพระยา) ถึงถนนพหลโยธิน และตรวจสภาพคลองบริเวณถนนเลียบทางด่วนจากซอยราชวิถี 2 ถึง ซอยราชวิถี 4 จากนั้นลงเรือบริเวณสถานีสูบน้ำบึงมักกะสัน ถ.ประชาสงเคราะห์ ถึงประตูระบายน้ำคลองสามเสน (ตอนคลองแสนแสบ) เนื่องจากคลองสามเสนเป็นคลองหลักสายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรองรับการระบายน้ำโดยเริ่มจากสถานีสูบน้ำคลองสามเสนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถ.พระราม 9 ต่อเชื่อมกับคลองแสนแสบ นอกจากนี้คลองดังกล่าวยังเป็นที่รองรับการระบายน้ำจากพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วมหลายแห่งที่ต้องอาศัยคลองสามเสนเป็นแนวระบายน้ำ ซึ่งการแก้ปัญหาสามารถทำเป็นแก้มลิงรองน้ำ และใช้วิธีการผลักดันน้ำออกนอกพื้นที่ได้ โดยเฉพาะบริเวณช่อง 5 (สนามเป้า) พบว่าเป็นจุดวิกฤตของกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงต้องมีการระบายน้ำบริเวณช่อง 5 (สนามเป้า) และ ถ.พหลโยธิน ลงคลองสามเสนซึ่งเป็นด้านใต้ และระบายน้ำอีกส่วนหนึ่งลงสู่บึงพิบูลย์วัฒนา ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ระบายน้ำสู่คลองเปรมประชากร อย่างไรก็ดีคลองสามเสนเป็นคลองสายหลักที่สำคัญในการระบายน้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลคลองให้น้ำไหลระบายสะดวกมากขึ้น โดยกทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจุดอ่อนต่างๆ ตามแนวคลองสามเสน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดอ่อนหรือจุดวิกฤตซึ่งในอนาคตจะต้องมีการประสานความร่วมมือเพื่อปรับปรุงแก้ไข คือ บริเวณโรงกรองน้ำคลองสามเสนของการประปานครหลวง ที่เกิดเป็นตะกอนจากกากการกรองน้ำ เนื่องจากยังไม่มีโรงงานที่จะกรองกากดังกล่าวแล้วน้ำไปทิ้ง ดังนั้นกากจากการกรองน้ำทั้งหมดของโรงกรองน้ำสามเสนจึงถูกปล่อยลงสู่คลอง สามเสนในปัจจุบัน แม้ว่ากทม.จะมีความพยายามในการขุดลอกคลองก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ทำให้คลอง ตื้นเขินเร็ว และการระบายน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร นอกจากนี้บริเวณที่เป็นที่ตั้งของสะพานก็จะมีตะกอนง่ายกว่าบริเวณอื่น อย่างไรก็ตาม กทม.ก็จะดำเนินการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับปัญหากากจากการกรองน้ำจะต้องมีวางแผนเพื่อแก้ไขในระยะยาวและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยจะประสานกับการประปานครหลวงให้ดำเนินการนำกากจากการกรองน้ำไปทิ้งอย่างเหมาะสมต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ