สคร.7 ชี้ประชาชนป่วยเห็ดพิษเพิ่ม เตือน ต้องแน่ใจชนิดของเห็ดก่อนรับประทาน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2012 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะมีเห็ดออกตามป่าจำนวนมาก ทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ แต่ละปีจะมีชาวบ้านนิยมรับประทานเห็ดทั้งที่ซื้อตามตลาด และหาเห็ดจากป่า ซึ่งจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก รวมถึงพบผู้เสียชีวิตทุกปีเช่นกัน จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 - 29 เมษายน 2555 พบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 240 ราย จาก 43 จังหวัด ในส่วนของพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.7 กลุ่มระบาดวิทยาฯ พบผู้ป่วยจากเห็ดพิษแล้ว 55 ราย โดยจังหวัด ยโสธรพบผู้ป่วยสูงสุด 18 ราย อุบลราชธานี 16 ราย ศรีสะเกษ 14 ราย นครพนม 4 ราย และมุกดาหาร 1 ราย นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า เห็ดที่ประชาชนมักนำมาบริโภค หรือจำหน่าย มีทั้งเห็ดที่กินได้ และเห็ดมีพิษ เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดจูน เห็ดเผาะ เห็ดหูหนู เห็ดตับเต่าบางชนิด และเห็ดลม ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น แม้บางรายจะทดสอบความเป็นพิษโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะพลาดได้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับวิธีการสังเกตอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจในชนิดของเห็ด วิธีปฏิบัติในการบริโภคและสังเกตเห็ดป่า มีดังนี้ 1.การจำแนกชนิดต้องมั่นใจจริงๆ ว่า รู้จักเห็ดชนิดนั้น 2.เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน 3.เก็บเห็ดที่มีลักษณะรูปร่างสมบูรณ์เท่านั้น 4.เวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้น โดยนำกระดาษรองในตะกร้า 5.อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ เพราะมีเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงไป 6.เก็บเห็ดมาแล้วควรปรุงอาหารทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน 7.ห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด 8.เห็ดที่ไม่เคยกินควรรับประทานเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก 9.ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมีหรือสวนที่ใช้สารเคมี เช่นสวนยางพารา การกินเห็ดพิษจะมีอาการแสดงออกหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด และมักเกิดภายใน 3 ชั่วโมง อาการมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณด้วย เช่น 1.พิษจากเห็ดลูกไก่ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนเมื่อกินร่วมกับแอลกอฮอล์ 2.พิษจากเห็ดหมวกจีน มีอาการเหงื่อแตก คลื่นไส้ และปวดเกร็งในท้อง 3.พิษจากเห็ดเกร็ดขาว มีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ซึม ซัก และหมดสติ 4.พิษจากเห็ดขี้ควายและเห็ดโอสถลวงจิต มีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง แต่ไม่มีอาการซึม 5.พิษจากเห็ดไข่ตายซาก เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่เป็ด และเห็ดไข่ห่านตีนต่ำ จะมีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะและคลื่นไส้ เกิดขึ้นในเวลาเกิน 6 ชั่วโมง อาการมักทุเลา 1-2 วันต่อมา ต่อมามีตับอักเสบ จนถึงตับอักเสบ จนถึงตับวายได้ สำหรับคำแนะนำ หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบไปพบแพทย์หรือนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อรับการรักษาต่อไป นายแพทย์ศรายุธ ยังกำชับอีกว่า หากประชาชนรับประทานอาหารที่ประกอบจากเห็ด แล้วเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจ รีบปฏิบัติตามคำแนะนำและนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หากประชาชนสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ