หวั่นภัยใกล้ตัว…“พยาธิหนอนหัวใจ” สุนัขตาย ติดต่อสู่คน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2012 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--COMMUNICATION ONE EXCELLENT สัตวแพทย์เตือนโรคพยาธิหนอนหัวใจ ภัยคุกคามสุขภาพคนเมือง น้องหมาตายได้ และเสี่ยงติดคน นำไปสู่โรคปอดเรื้อรัง และทำให้เกิดก้อนเนื้อตายอุดตันที่ปอดมีพาหะนำโรคสำคัญ คือ “ยุง” ซึ่งพบมากในฤดูฝน เผยปัจจุบันมีนวัตกรรมล่าสุดเอาใจคนรักสุนัข ด้วยเวชภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่ให้ผลป้องกันได้นานที่สุด ย้ำปกป้องสุนัขไม่ให้ติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ ดีที่สุด เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น อ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐ์พงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm Disease) เป็นโรคที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสุนัขเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป็นโรคที่สามารถติดต่อมายังคนได้ มียุงเป็นพาหะนำโรค หากยุงที่กัดสุนัขที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจแล้วมากัดคน คนก็อาจติดพยาธิหนอนหัวใจได้เช่นกัน จากปรากฏการณ์ธรรมชาติเอลนีโญ่ (El Nino) ที่ส่งผลให้ภูมิอากาศแปรปรวนและร้อนชื้นผิดปกติ ทำให้ทั่วโลกหันมาตื่นตัวให้ความสำคัญกับการปกป้องศัตรูตัวฉกาจของสุนัข นั่นคือ พยาธิหนอนหัวใจ ซึ่งพร้อมที่จะแพร่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น โดยมีพาหะสำคัญคือ ยุง ซึ่งขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น นั่นหมายถึงการแพร่ระบาดของพยาธิหนอนหัวใจก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย สำหรับประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและมีความชุกของโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขสูงอยู่แล้วนั้น จึงจัดว่าอยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชุมชนเมือง อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีความชุกของพยาธิหนอนหัวใจ หรือความเสี่ยงของโรคสูงถึง 51%[1],[2],[3] อ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ กล่าวต่อว่า “ผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่มักจะละเลย และคิดไม่ถึงว่า โรคพยาธิหนอนหัวใจจะมีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้ แต่ความจริงแล้วสุนัขทุกตัวมีโอกาสติดโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขที่อาศัยหรืออยู่ใกล้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บริเวรณชื้นแฉะ มีน้ำขัง ริมน้ำนิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ “ยุง” ทั้งนี้การติดโรคมาสู่คนเกิดขึ้นได้เมื่อตัวอ่อนพยาธิจากยุงเข้าสู่ร่างกายคน ตัวอ่อนพยาธิจะไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้ แต่จะตายและกลายเป็นก้อนไปอุดตันอยู่ตามแขนงหลอดเลือดปอด ทำให้เยื่อบุหลอดเลือดแดงอักเสบ เกิดเป็นก้อนเนื้อตายอยู่บริเวณใกล้ผิวปอด ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ปวดแน่นหน้าอก ไอ หรือไอปนเลือด ไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว หากผู้ป่วยเข้ารับการฉายภาพรังสีวิทยาจะพบปอดมีจุดขาว กระจายลักษณะคล้ายมะเร็งปอด[4]” ปัจจุบัน พบว่า มีรายงานอุบัติการณ์ของโรคพยาธิหนอนหัวใจในคนทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในประเทศญี่ปุ่นมีพบมากถึง 145 คน และประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานการติดโรคนี้มากกว่า 110 คนเช่นกัน ซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กอายุ 8 ปีจนถึงคนชราอายุ 80 ปี ในประเทศไทย ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคนี้รายแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยพบเป็นก้อนเนื้อตายที่ปอดล่างขวา ถือเป็นรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยที่มีการติดพยาธิหนอนหัวใจ[5] นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบในคนจากประเทศ ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย ศรีลังกา บราซิล สเปน อิตาลี และ ออสเตรเลีย ส่งผลให้นักสาธารณสุขทั่วโลกเร่งให้ความสำคัญในการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น อ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้ยุงที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจมากัดสุนัขนั้นทำได้ยากมาก เพราะประเทศไทย อยู่ในเขตร้อนและมียุงตลอดปี ดังนั้น การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การลดความชุกของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อมาสู่คน โดยผู้เลี้ยงจะต้องมีจิตสำนึกและนำสุนัขไปรับการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดโอกาสของการติดพยาธิหนอนหัวใจได้โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงนี้ ซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้วและเนื่องจากประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมียุงที่เป็นพาหะนำโรคพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมาก จึงขอแนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงเข้ารับโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจกับสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้ควบคุมโรคตลอดทั้งปี จะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้การดูแลและป้องกันสุขภาพทั้งของสุนัขและเจ้าของสุนัข ห่างไกลโอกาสที่จะติดพยาธิหนอนหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น” อ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ กล่าวสรุป ทางด้านตัวแทนผู้เลี้ยงสุนัข เซเลบริตี้สาวสวย เก๋-ชลลดา เมฆราตรี ในฐานะประธานโครงการช่วยเหลือสัตว์ด้วยโอกาส The Voice ได้พูดถึงโรคพธาธิหนอนหัวใจที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงว่า เก๋ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของสุนัขหรือสัตว์ทุกชนิดที่เราเลี้ยง โดยคุณหมอจะบอกเสมอว่า “ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่ารอให้นอนป่วยแล้วค่อยมารักษา” ซึ่งคุณหมอที่เก๋ไปปรึกษาอยู่เสมอ แนะนำว่าสภาพอากาศของบ้านเราที่ร้อนขึ้นทุกวัน บางวันก็มีฝนตก และอาจมีโอกาสสูงที่จะทำให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคพยาธิหนอนหัวใจที่มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสภาพอากาศร้อนชื้น และช่วงย่างเข้าฤดูฝนแบบนี้ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงค่ะ ถ้าสุนัขของเราโดนยุงกัด ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจ จะทำให้สุนัขของเราทรมานมาก กว่าที่เราจะสังเกตเห็นอาการของโรค ก็เข้าขั้นร้ายแรงแล้ว น้องหมาอาจจะเกิดอาการหอบ เหนื่อยมาก จนกระทั่งหัวใจวายตายได้ และที่สำคัญคือ โรคนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้ ถือว่าเป็นภัยที่ใกล้ตัวเจ้าของและผู้ใกล้ชิดมากๆ คุณหมอแนะนำเก๋ว่า ปัจจุบันนี้มีโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมีประสิทธิภาพมาก เพียงแค่ 1 เข็มป้องกันได้ 12 เดือน ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดของนวัตกรรมยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจประสิทธิภาพสูง เพียงการฉีดปีละครั้ง (Once-a-year Heartworm Prevention) สามารถป้องกันได้ยาวนานถึง 12 เดือน และเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในประเทศไทย และยังได้การรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นต่ำมาก[6] เหมาะกับสุนัขทุกสายพันธุ์ ทั้งลูกสุนัข และสุนัขโต เพิ่มความสะดวกต่อเจ้าของสุนัข และช่วยให้ความมั่นใจได้ว่าสุนัขจะได้รับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่ได้ผลแน่นอนอย่างแท้จริง ถือว่าคุ้มค่าและสะดวกมากๆ เก๋มั่นใจมากว่า จะช่วยให้เราสามารถปกป้องชีวิตสุนัขที่เรารักและตัวเราเองได้ ตัดไปได้เลยกับปัญหาการหลงลืมการให้ยา ถ้าเรารักเขาอยากให้เขาอยู่กับเราก็ต้องให้สิ่งที่ดีสุดกับเขาด้วยเช่นกัน” คุณเก๋ ชลลดา ฝากข้อคิดการดูแลสัตว์เลี้ยงว่า “สุนัขไม่ได้เป็นแค่สัตว์ 4 ขาเท่านั้น แต่เขาเปรียบเสมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว เราก็ควรจะเอาใส่ใจดูแลให้ดีที่สุด คนเรายังต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต สุนัขก็เช่นกันไม่ว่าเป็นเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน รวมไปถึงเรื่องการเจ็บป่วย เราไม่ต้องรอให้โรคต่างๆ เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราก่อนแต่ควรหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดจะดีกว่าไหม เขาจะได้อยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งโรคพยาธิหนอนหัวใจ เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัว และเป็นภัยเงียบที่ไม่เพียงคุกคามชีวิตของเพื่อนรัก 4 ขาของเรา แต่ยังมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดต่อมายังเจ้าของและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย” [1] Sangkavoranond A. The prevalence of heartworm (Dirofilaria immitis) in stray dogs from Bangkok etropolitan area. Kasetsart Veterinarians 1981; 2: 185-9. [2] Sangkavoranond A, Paiboolratanawong S. Incidence of helminth infections in alimentary canal and of heartworm infections among stray dogs from Bangkok Metropolitan area. J. Thai Vet. Med. Assoc. 2001; 52: 53-60. [3] Nithiuthai S, Chungpivat S. Lymphatic filarial (Brugia pahangi) in dogs. J. Thai Vet. Pract.1992; 4: 123-33. 4 Sukpanichnant S, Leenuttapong V, Dejsomritrutai W, Thakerngpol K, Wanachiwanawin W, Kachintorn U, Nitiyanant W. Pulmonary dirofilariasis in a patient with multisystem Langerhans cell histiocytosis—the first reported case in Thailand. J Med Assoc Thai. 1998 Sep;81(9):722-7. [5] ทวี สายวิชัย, ศิรินทิพย์ ชัยชโลธรกุล. พยาธิหนอนหัวใจภัยเงียบของคนเมือง. วารสารสาธารณสุขศาสตร์ 2551; 38(1): 92-107. [6] Guidelines for Preparing CoreClinical Safety Information on Drugs — Report of CIOMS Working Group III. Geneva, WHO, 1995.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ