“สุเทพ จันทระ” ครูข้างถนนผู้สร้างคนด้วย “ศิลปะ” จุดประกาย “คิดสร้างสรรค์” สู่เยาวชนผ่านเส้นสายลายสี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2012 18:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ “ศิลปะ” เป็นวิชาที่มักจะถูกจัดให้มีความสำคัญในลำดับท้ายๆ เพียงเพราะมุมมองของหลายคนที่เห็นว่าศิลปะก็เป็นเพียงแค่การวาดรูประบายสี แต่หากศึกษาให้ดีจะพบว่าศิลปะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข “ศิลปะเป็นวิชาพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ แต่คนทั่วไปมักจะมองว่าศิลปะคือการวาดรูปให้สวยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ท่านพุทธทาสบอกว่าธรรมะคือชีวิต ธรรมะก็คือการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ แล้วนำไปสู่ชีวิตตัวเองด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีความคิดแยกแยะ ศิลปะก็เช่นเดียวกัน” เป็นคำพูดของ “สุเทพ จันทระ” อดีตครูผู้ทุ่มเทเวลาในวัยเกษียณ 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ไปกับการสอนศิลปะให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดกระบี่ ที่เชื่อมั่นว่า “ศิลปะเป็นพื้นฐานในการสร้างกระบวนการคิดที่ดีที่สุด” ว่าที่ครูสอนดีจากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” หรือ “ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ “ครูสุเทพ” จะออกเดินทางไปสอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนครูศิลปะ หรือสถานศึกษาที่ดูแลเด็กด้อยโอกาสโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สีและอุปกรณ์ก็เตรียมไปเองทั้งหมด ส่วนในวันเสาร์ก็จะใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตนเอง เพราะอาชีพศิลปินถึงอย่างไรก็ต้องกินต้องใช้ และเป็นหนทางหารายได้เสริมเพื่อที่จะนำมาใช้ทำกิจกรรมกับเด็กนอกเหนือไปจากเงินบำนาญ ส่วนวันอาทิตย์จะเปิดบ้านที่ตั้งเป็น “ศูนย์ศิลปะจันทระ” เพื่อเปิดโอกาสและทุ่มเทเวลาให้กับเด็กๆ ที่มีความสนใจด้านศิลปะ เด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษ ฯลฯ ได้มาเรียนรู้ด้านศิลปะที่ตัวเองชื่นชอบหรือถนัดอย่างเต็มที่ โดยมี “ครูสุเทพ” คอยให้คำปรึกษาแนะนำแบบตัวต่อตัว ครั้นพอถึงช่วงเย็นยันค่ำของทุก วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ห้องเรียนศิลปะก็จะถูกย้ายไปตั้งอยู่ที่ “ถนนคนเดิน” เป็นห้องเรียนข้างถนนที่เปิดพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กๆ ได้มาขีดเขียนระบายสีได้ตามแต่จินตนาการ “เมื่อ 6 ปีที่แล้วตอนนั้นที่ลาออกมา ว่าจะมาทำอาชีพศิลปินสร้างสรรค์งานของตนเอง แต่ก็มาคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ได้แต่ตัวของเราเอง พอคิดแบบนี้ได้ก็เลยกลับมามองที่ตัวเด็กเป็นจุดเริ่มต้น เด็กตัวเล็กๆ ที่ถือว่าเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ ถ้าเราให้อะไรที่ถูกต้อง ให้หลักวิชาการที่ชัดเจนเด็กจะได้ประโยชน์ไปตลอดชีวิต” ครูสุเทพกล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน โดยวิธีการสอนศิลปะของ “ครูสุเทพ” ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือรูปแบบในสิ่งที่เด็กจะสร้างสรรค์ขึ้น แต่เน้นการสร้างความสุขและสนุกไปกับงานที่ทำ จะเลือกใช้สีอะไรก็ได้ หรือจะวาดภาพอะไรก็ได้ แต่จะเน้นไปที่การทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของผลงานที่ตนเองทำขึ้นมา และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดและต่อยอดจากผลงานเดิมที่ทำ ด้วยการนำภาพของแต่ละคนขึ้นบอร์ดเหมือนกับการจัดแสดงภาพ ไปพร้อมกับการฟังคำแนะนำและให้กำลังใจจากคุณครู ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เด็กๆ ทุกคนได้เห็นผลงานของคนอื่น และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลงานของเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันและของรุ่นพี่-รุ่นน้อง “เด็กเล็กจะสอนเรื่องเส้นและสี ให้เด็กรู้จักการวาดวงกลมในอากาศก่อน แล้วก็ถามเด็กว่าเห็นอะไรไหม เด็กก็จะบอกว่าไม่เห็นอะไรเลย เราก็จะเอากระดาษมาให้เขาวาดวงกลมลงไป ถ้าเด็กที่มีความพร้อมเคยทำมาก่อนแล้วเขาก็จะทำได้ เป็นรูปร่างรูปแบบต่างๆ ขึ้นได้ ต่อมาก็สอนเรื่องสี ให้เด็กรู้ว่าสีนั้นคือสีอะไร และระบายสีตามที่เขาชอบเป็นหลัก ให้เขามีความเพลินเพลินซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ในระดับที่สูงขึ้นไป” ครูสุเทพกล่าว “ในการสอนผมยึดหลักกระบวนการที่ใช้ทฤษฏีแห่งธรรมมะ กับใช้กระดาษหนึ่งแผ่น หลักธรรมเราเอามาใช้กับตัวนักเรียนได้อย่างไร นั่นก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวนี้เป็นตัวกำหนดการสอน ศีลก็คือการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัตินานๆ ขึ้นเด็กก็เกิดทักษะ เมื่อเกิดทักษะก็จะมีสมาธิในตัวเกิดขึ้นมาพร้อมกัน เสร็จแล้วชิ้นงานที่ออกมาก็คือปัญญา” ครูสุเทพเล่าการนำหลักธรรมมะมาใช้ในการสอน แต่สำหรับมุมมองของหลายๆ คนที่เห็นภาพของ “ครูสุเทพ จันทระ” ชายร่างเล็กหนวดเครารุงรังผู้นี้ที่เพียรพยามสอนและแนะนำให้เด็กๆ วาดรูปอะไรก็ไม่รู้อยู่ข้างถนนเพียงผิวเผิน ก็อาจมองว่า “บ้า” หรือเปล่า แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดมาจากแรงบันดาลใจ ความรัก และความเชื่อมั่นในวิชาศิลปะที่สร้างสามารถสอนให้มนุษย์เรารู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ “หนึ่งเวลาผมสั้นแล้ว สองสิ่งที่อยู่ในตัวถ้าปล่อยให้หายไปกับตัวผมมันไม่เกิดประโยชน์อะไร ทำอยากไรให้ใครสักหนึ่งหรือสองคนมารับช่วงต่อ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ใครจะมองว่าครูคนนี้มันบ้าจะว่าอย่างไรผมก็ไม่สน แต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือเด็กที่ขาดโอกาสได้มีความรู้ ได้ประโยชน์ทั้งตัวเด็ก ได้ทั้งโรงเรียน ได้ทั้งชื่อเสียงของจังหวัด” ครูสุเทพเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน นายกลิ่น คงเหมือนเพชร ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดกระบี่ เล่าว่าเห็นครูสุเทพทำงานกับเด็กและเยาวชนโดยใช้ศิลปะมานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ที่ยังเป็นอาจารย์อยู่ที่ โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล พอเกษียณแล้วก็ออกมาทำงานด้วยใจรัก สำนึกรักท้องถิ่น และสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องการสืบสานวิชาความรู้ทางด้านศิลปะที่ถูกต้องไปสู่ลูกหลานคนกระบี่ “ศิลปะไม่ว่าจะแขนงใดเป็นวิชาที่ช่วยขัดเกลาจิตใจ ช่วยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นความคิดที่ดีงามตามจินตนาการและ เป็นต้นทางหนึ่งที่จะเปิดประตูไปสู่การเรียนรู้ ไปสู่การพัฒนาจิตใจตนเองและสังคมดังนั้น คนที่มีศิลปะอยู่ในหัวใจก็จะคิดแต่เรื่องสร้างสรรค์เป็นหลัก” อาจารย์กลิ่นระบุ นายจงรักษ์ ตันหุน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะกลาง ที่พาลูกศิษย์รุ่นเยาว์ที่สนใจวิชาศิลปะลงเรือและต่อรถมาเรียนที่ “ศูนย์ศิลปะจันทระ” เป็นประจำทุกวันวันอาทิตย์ เล่าให้ฟังว่าการเรียนศิลปะนั้นส่งผลดีต่อการเรียนในวิชาอื่นๆ เพราะศิลปะช่วยในการฝึกสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ “เมื่อเด็กมีสมาธิเด็กก็จะมีความตั้งใจเรียนมากขึ้น ทำให้การเรียนในกลุ่มสาระวิชาทั้ง 3 กลุ่มดีขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นตลอดเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ที่สำคัญศิลปะยังสอนให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ รู้จักคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต” ผอ.จงรักษ์กล่าว “เพราะฉะนั้นศิลปะที่เราวาด ที่เราไปใช้ในโรงเรียนก็ดี หรือที่ไหนก็ดี เพื่อตัวเราหรือเพื่อตัวใครก็ตามในสังคมหรือในโลกนี้ใช้ศิลปะเป็นหลัก และถ้าทำให้คนทุกคนถ้าได้มีศิลปะอยู่ในหัวใจของคนทุกคนแล้วผมว่าในโลกนี้มีความสุขทุกคน” ครูสุเทพกล่าวสรุป.
แท็ก ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ