เปิดใจครูที่ต้องยกมือไหว้ศิษย์ “คนึงจิต สีชมภู” ภาษาอังกฤษไม่ยาก! เรียนรู้ง่ายๆ จากเรื่องรอบตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2012 18:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ หากเป็นในชั้นเรียนปกติ เมื่อครูผู้สอนเดินเข้ามาในห้อง นักเรียนทุกคนก็จะต้องลุกขึ้นยืน พร้อมกับยกมือไหว้ และกล่าวคำทักทายว่า...สวัสดีครับหรือสวัสดีค่ะคุณครู แต่บรรยากาศห้องเรียนที่ โรงเรียนวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน กลับไม่เป็นอย่างที่คุ้นเคยกัน เพราะที่โรงเรียนแห่งนี้ “ครูจะต้องยกมือไหว้ลูกศิษย์” ก่อนทุกครั้งที่ทำเริ่มต้นการสอน นอกจากนี้ยังต้องวางตัวด้วยการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะครูที่เป็นผู้หญิง ก็เพราะว่าเด็กนักเรียนในสถานศึกษาแห่งนี้ทั้งหมดเป็น “สามเณร” “โรงเรียนวัดบุญยืน” เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญที่เปิดสอนใน “สายสามัญ” ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และเปิดสอนใน “สายธรรมบาลี” ควบคู่กันไปตั้งแต่ประโยค 1 ถึง 9 และเปิดสอนในหลักสูตร “นักธรรมตรี-โท-เอก” ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 96 รูป ซึ่งการ “บวชเรียน” นั้นถือว่าเป็นทางออกหนึ่งของเด็กๆ ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน หรือขาดโอกาสทางการศึกษาที่ต้องการที่จะเรียนต่อหลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะแทบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือจะต้องบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนเสียก่อน “ครูคนึงจิต สีชมภู” ครูภาษาอังกฤษเพียงคนเดียวของโรงเรียนวัดแห่งนี้ ที่สอนสามเณรในทุกระดับชั้น ว่าที่ “ครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เล่าให้ฟังถึงข้อจำกัดระหว่างการสอนสามเณรกับการสอนเด็กปกติว่า มีความแตกต่างกันตรงที่ครูผู้สอนไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวลูกศิษย์ได้ วาจาที่ใช้ก็ต้องสุภาพและเหมาะสม เพราะสามเณรมีศีลเป็นข้อกำหนด “เวลาเข้าห้องเรียนเราก็ต้องยกมือไหว้และกล่าวคำว่านมัสการก่อน หรือถ้าเราอยากให้นักเรียนทำอะไรก็ต้องบอกว่านิมนต์ การสอนสามเณรมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่สามารถตีได้ วิธีการลงโทษหรือทำอะไรก็ตามจะดูว่าบาปหรือไม่อยู่ที่เจตนาของเรา ดังนั้นจึงใช้วิธีการทำโทษด้วยการหักคะแนน ทำความสะอาดแทน ซึ่งก็ได้ผลเนื่องจากถ้าโดนหักคะแนนก็จะส่งผลให้เกรดออกมาไม่ดี” ครูคนึงจิตกล่าว “นมัสการสามเณรทุกรูป กู๊ดอาฟเตอร์นูนเอฟเวอรี่บอดี้” เป็นคำกล่าวทักทายของ “ครูคนึงจิต” กับนักเรียนที่เป็นสามเณร ก่อนที่จะเริ่มต้นการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในแต่ละวัน และก่อนที่จะจบชั่วโมงเรียนเรียนครูก็กล่าวว่า “นิมนต์สามเณรพักได้” โดยมีเสียงตอบรับพร้อมกันจากนักเรียนแทนคำว่า “ขอบคุณครับคุณครู” นั่นก็คือ....“เจริญพรอาจารย์” การสอนวิชา “ภาษาอังกฤษ” สำหรับเด็กๆ ทั่วไปก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว ยิ่งสอนกับ “สามเณร” ดูเหมือนจะยากยิ่งกว่า ทั้งในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และตัวครูผู้สอนเองก็ต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ให้ดูเหมาะสมแก่ “สมณะสารูป” ของสามเณร โดยรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของ “ครูคนึงจิต” กับนักเรียนจะใช้วิธี “การเทียบอักษร” โดยนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาเทียบกับพยัญชนะพื้นฐานในภาษาไทยแบบง่ายๆ เพื่อสร้างกำลังใจ และฝึกฝนให้นักเรียนได้เรียนรู้จักและเข้าใจภาษาอังกฤษด้วยการไป “ค้นหาคำศัพท์” ต่างๆ จากข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งของใกล้ตัว แล้วนำมาบอกเล่าให้คุณครูฟังในเวลาหลังเลิกเรียนเพียงวันละ 5 คำ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้สามเณรมีความตั้งใจและอยากที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะปัญหาสำคัญสำหรับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษก็คือการที่ไม่รู้ว่าคำๆ นี้มีความหมายว่าอย่างไร “ตั้งแต่จำความได้เขาจะได้ยินว่าภาษาอังกฤษยาก เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ต้องฝึกทักษะต้องพูดบ่อย อ่านบ่อย เขียนบ่อยถึงจะได้ ในฐานะที่เป็นครูภาษาอังกฤษก็ต้องทำการแก้ไขโดยการทำการวิจัยก็พบว่าเด็กส่วนใหญ่บอกว่าอ่านไม่ได้ ไม่รู้ความหมาย ก็เลยบอกไปว่าภาษาอังกฤษมันอยู่รอบตัวเรา ชี้ให้นักเรียนเห็นความสำคัญ แล้วก็พานักเรียนฝึกภาษาอังกฤษ ฝึกอ่านก่อน อ่านจากสื่อที่ง่ายๆ อ่านจากง่ายไปยาก พอนักเรียนทำสิ่งที่ง่ายได้เขาก็จะเริ่มมีกำลังใจ แล้วก็ฝึกให้อ่านและค้นหาคำศัพท์จากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว” ครูคนึงจิตเล่าถึงเทคนิคในการสอน พระมหาเกรียงไกร อหึสโก ผู้จัดการโรงเรียนประปริยัติธรรมวัดบุญยืน เล่าถึงสถานภาพของครูผู้สอนที่โรงเรียนวัดแห่งนี้ว่า ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดังนั้นครูทุกคนของที่นี่จึงต้องมีจิตอาสามาก่อน และที่สำคัญก็คือไม่มีเงินเดือน มีแต่ค่าตอบแทนที่ขึ้นลงไปตามจำนวนของผู้เรียน “เมื่อก่อนเราก็อยากจะได้ครูที่จบตรงสาขามาสอน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้เขาอยู่กับเรานานๆ ส่วนใหญ่มาเพียงชั่วคราวแล้วก็ไป แต่สำหรับคุณครูคนึงจิต การที่ท่านได้ทุ่มเทการเรียนการสอนอยู่ที่นี่มานานกว่า 11 ปี และยังสละเวลามาช่วยงานด้านวิชาการของโรงเรียนอีก คิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความผูกพันด้านจิตใจระหว่างครูกับลูกศิษย์ ถึงแม้จะเป็นเพศสามเณรแต่เพราะความไร้เดียงสาของเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่มีผ้าเหลืองเป็นตัวกั้นเท่านั้น” พระมหาเกรียงไกรกล่าว แต่สำหรับ “ครูคนึงจิต” ที่ถึงแม้จะเรียนจบครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษมาโดยตรง แต่ก็ไม่คิดจะย้ายไปสอบบรรจุเพื่อหาความมั่นคงจากสถานศึกษาอื่นๆ เพราะความมั่นคงที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจ ที่เกิดขึ้นมาจากความสุขที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส “มาสอนแรกๆ ก็ท้อเหมือนกันเพราะว่ารายได้มันน้อยไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไป ก็เลยคิดหาวิธีไปสอบเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป คือวันหนึ่งๆ ที่เรามาอยู่กับนักเรียน เช้าจรดเย็นเราได้พานักเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง เราก็มีความสุขและใช่ว่าอยู่ที่นี่แล้วเราจะก้าวหน้าไม่ได้ ในเมื่อเรามีความสามารถ ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย” ครูคนึงจิตบอกเล่าถึงความในใจ ก่อนที่จะทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า... “นักเรียนที่มาบวชเป็นสามเณรที่นี่ส่วนใหญ่เป็นด้อยโอกาส ไม่ค่อยจะมีใครเห็นความสำคัญสักเท่าไร ในเมื่อเราได้มาเห็น ได้มาเจอ ก็อยากที่จะช่วยเหลือ เพราะว่าการที่เขาไม่รู้แล้วเราทำให้เขารู้เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจและดีใจ อย่างน้อยๆ ก็ขอเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็ยังดี ที่มีส่วนที่ทำให้คนได้รู้ภาษาอังกฤษและมีเจตคติที่ดีว่าภาษาอังกฤษไม่ยากอย่างที่คิด” ครูคนึงจิต สีชมภู ว่าที่ครูสอนดีกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ