กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ปิดฉากค่ายวิทย์ฯ “ซินโครตรอนอาเซียน” ครั้งแรกยิ่งใหญ่ ระบุไทยประสบผลสำเร็จในการขยายฐานและ ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนของไทย เผยนักศึกษาไทย และประเทศต่างๆ เข้าร่วมเกินเป้าหมาย คาดความรู้ที่ได้รับจากการเข้าสัมผัสเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแห่งใหญ่สุดในอาเซียนถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางพร้อมเตียมจัดค่ายวิทย์ฯซินโครตรอนอาเซียนต่อเนื่อง
เมื่อวันที่18 พ.ค.ที่อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการแสงสยาม และเป็นประธานพิธีปิดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนครั้งที่ 1 (The 1stAsean Synchrotron Science Camp) และโครงการครูฟิสิกส์ไทยครั้งที่ 3 โดยมี ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม
ทั้งนี้ ดร.วิบูลย์ ได้มอบใบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวน 81 คน และครูฟิสิกส์ไทยอีก 17 คน รวม 98 คน พร้อม มอบรางวัลกิจกรรมยอดเยี่ยมให้ทีมนักศึกษาจากประเทศกัมพูชาที่สามารถคว้ารางวัลกิจกรรมยอดเยี่ยมในกลุ่ม “Radio Frequency” ไปครองได้สำเร็จ ประเดิมเป็นทีมแรกในการจัดค่ายวิทย์ฯ ซินโครตรอนครั้งที่ 1 นี้
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วย รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ศักยภาพของเครื่องกำเนิดแสงสยาม หรือเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทยขณะนี้ถือว่าไทยเราเป็นอันดับหนึ่งและเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยขนาดของเครื่องสามารถผลิตแสงซินโครตรอนในย่านพลังงานที่ 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ มีสถานีทดลองมากถึง 9 สถานีรองรับงานวิจัยหลายด้านได้พร้อมในเวลาเดียวกันและยังสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อรองรับงานวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาที่ครอบคลุมตั้งแต่วิทยาศาสตร์พื้นฐานถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์
สำหรับการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนนั้น เป็นกิจกรรมหนึ่งในภารกิจการพัฒนาและสร้างบุคคลกรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการจัดต่อเนื่องมาเป็นเวลานานร่วม 8 ปีตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาของไทยรวมถึงครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาสัมผัสและทดลองใช้ประโยชน์จากแสงสยามแห่งนี้ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองการเรียนการสอนสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูง เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์วิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และเพื่อเป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการให้มากขึ้น ในปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่เปิดรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกิจกรรม ในงาน “ค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนครั้งที่ 1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค.2555 ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม ที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงนักศึกษาของประเทศไทยด้วย
“นักศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้และทดลองใช้ประโยชน์จริงจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน จากนี้ไปจะได้นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในประเทศของตัวเอง และการได้มาสัมผัสกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการวิจัยระดับชาติแห่งนี้ จะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านความร่วมมือในการศึกษาวิจัย และเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งทางสถาบันฯ มุ่งขยายฐานการใช้บริการแสงซินโครตรอนสู่ประชาคมวิจัยอาเซียนในอนาคต เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางอาเซียนของประเทศไทยด้วย” ดร.วิบูลย์ กล่าวในที่สุด
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047 อีเมล :[email protected]