วช. เผยความคืบหน้าวิจัยแก้ปัญหานโยบายค่าแรงงานและเงิน ป.ตรี เตรียมส่งต่อรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Thursday May 24, 2012 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง “โครงการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ที่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” เพื่อรายงานความคืบหน้าและผลการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300/วัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ในวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องเมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ วช. ได้สนับสนุนการวิจัยแก่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมี รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ 4 ประเด็นหลัก ในเรื่องนโยบายค่าแรงงาน 300 บาทและรายได้ของปริญญาตรี 15,000 บาท ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาค ผลต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน และผลของนโยบายปริญญาตรี 15,000 บาท ในภาคราชการ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้แสดงความคิดเห็นทั้งในระดับอุตสาหกรรม SME และภาคราชการ เพื่อนำผลมาวางแผนระยะยาวนำเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นการนำเสนอร่างรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ได้ความคิดเห็นมาจากการระดมสมองใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการระดมสมองพบว่า หากนโยบายมีผลบังคับใช้จริงอาจส่งผลให้มีอัตราการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากในความเป็นจริงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้แรงงานต่างด้าวหรือการจ้างงานช่วง (Sub contract) แต่ด้วยแรงงานไทยขาดความอดทนต่อการทำงานที่ยากลำบาก จึงมีแนวโน้มลาออกสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีความอดทนและสู้งานมากกว่าเพื่อทดแทนแรงงานไทย ซึ่งในนโยบายดังกล่าวดูแล้วจะมีผลกระทบกับ SMEs ค่อนข้างมาก เพราะรายได้ของบริษัทอาจไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนที่สูงขึ้นและบริษัทไม่สามารถที่จะขึ้นราคาสินค้าได้ และได้เสนอทางเลือกไว้ว่าในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับเงินเดือนให้พิจารณาแนวทางโดยเพิ่มเงินเดือนตามสัดส่วนให้พนักงานเป็นรายบุคคล หรือปรับเป็นสัดส่วน (%) ตามงบประมาณที่มีอยู่ของบริษัท โดยบริษัทหรือสถานประกอบการต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้าง และชี้ให้ลูกจ้างเห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับลูกจ้างทุกตำแหน่งงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานให้ทัดเทียมกับอัตราค่าจ้างใหม่ตามนโยบายรัฐโดยเน้นการติดตามประเมินผลควบคู่ไปกับการฝึกอบรมหรือการฝึกทักษะ ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โทร 02 561 2445

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ