เอชพี ร่วมสนับสนุนการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กอัจฉริยะ สานต่อปณิธาน ส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์เยาวชนไทย

ข่าวทั่วไป Friday May 25, 2012 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน เอชพี ร่วมสนับสนุนการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กอัจฉริยะ สานต่อปณิธาน ส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์เยาวชนไทยภายใต้โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาของ สสวท. ประจำปี 2554 เพราะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ เอชพี ในฐานะบริษัทผู้นำนวัตกรรมคอมพิวเตอร์อันดับหนึ่งของโลก จึงเดินหน้าสานต่อปณิธานที่จะส่งเสริมอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็กไทย ด้วยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา สำหรับนักเรียนจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2554 วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น เป็นองค์ความรู้สำคัญ และเป็นรากฐานในการคิดค้นวิทยาการ ความก้าวหน้าใหม่ ๆ และพัฒนานวัตกรรมในอนาคต อาทิ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทว่าการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อสนองต่อความต้องการด้านการพัฒนาประเทศยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทย ยังขาดการจัดระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่รองรับในกลุ่มเด็กที่เรียกว่า “เด็กอัจฉริยะ” ซึ่งมีความสามารถและอัจฉริยภาพสูง ยังคงนั่งเรียนรวมกับเพื่อนๆ ดังนั้น สสวท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงดำเนินภารกิจ เสริมแกร่งติดอาวุธทางปัญญา เตรียมความพร้อมเด็กไทยผ่านโครงการและหลักสูตรต่อยอดการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสุดอัจฉริยะต่อไปในอนาคต สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้จัดการสอบตามโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อเฟ้นหาเด็กผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา มาเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยผู้มีความสามารถพิเศษเหล่านี้ ให้มีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้ง มีทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ และปลูกฝังความอยากเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนไทยที่มีอัจฉริยภาพเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรแถวหน้า ช่วยพัฒนาประเทศและชุมชนที่อยู่อาศัยต่อไปได้ในอนาคต นางสาวรัชดา ยาตรา นักวิชาการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และอาจารย์ประจำโครงการ กล่าวว่า “จริงๆ แล้ว ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น อยู่ใกล้ตัวเรา หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ เพียงแต่หากไม่ได้เรียนรู้ ก็ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้น สสวท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมวัย จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการจัดค่ายฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่แตกต่างไปจากในห้องเรียน เพราะเราจะเน้นให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ตามทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และได้ลงมือปฏิบัติหรือทำการทดลองจริง และยังปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้พวกเขาสามารถนำความรู้ และประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย” โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2554จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 โดยในปีนี้ มีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 420 คน จากจำนวนผู้สมัครทั่วประเทศทั้งสิ้นกว่า 309,386 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในห้องเรียน รวมไปถึงการฝึกคิดวิเคราะห์ ฝึกการประเมินและทดลองแก้ปัญหาให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เรือมหาสมบัติ ตามรอยนักสืบ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ถอดรหัสอัจฉริยะ การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ Robot Square และการประดิษฐ์หุ่นยนต์ เป็นต้น กิจกรรมในค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จะมีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติ โดยเริ่มจากการมีวิทยากรมาบรรยายให้เข้าใจถึงพื้นฐานและหลักการก่อน จากนั้นจะให้เด็กๆ เริ่มฝึกคิดวิเคราะห์ ตั้งสมมติฐาน และลงมือทดลองปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการท่องจำ “กิจกรรมเรือมหาสมบัติในวันนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องแรงลอยตัว และแรงโน้มถ่วง และต้องตั้งสมมติฐานว่าจะประดิษฐ์เรือดินน้ำมันให้ลอยน้ำได้อย่างไร ถือเป็นการฝึกฝนกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแค่นั้น ในการทดลอง เด็กๆ จะต้องทำงานร่วมกัน และต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ ในกลุ่ม ก็จะทำให้เด็กๆ ได้รู้จักความสามัคคีด้วย ซึ่งหลังจากที่เด็กๆ เหล่านี้ ผ่านกิจกรรมของโครงการฯ นอกจาก เด็กๆ จะสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำได้แล้ว ยังเป็นการสร้างรากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมๆ กับต่อยอดความรู้ของพวกเขาในอนาคตได้อีกด้วย ที่ผ่านมาเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ของเราหลายๆ คน สามารถเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน” อาจารย์รัชดากล่าวเพิ่มเติม สำหรับน้องเชมร็อก ด.ช. สพลณัชญ์ พรหมเพียงชัย อายุ 10 ปี นักเรียนผู้ได้รับเหรียญทองในวิชาคณิตศาสตร์ และเหรียญเงินในวิชาวิทยาศาสตร์ จากการสอบแข่งขันในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2554 ได้กล่าวถึงความสนุกสนานและประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมค่ายฯ ในครั้งนี้ว่า “รู้สึกดีใจที่ผมได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ครับ เพราะนอกจากกิจกรรมที่สนุกสนานแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวๆ ใหม่ๆ ได้รับความรู้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และยังได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วย ทำให้ได้รู้จักการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และรู้จักความสามัคคี ที่สำคัญกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกอยากเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะเราสามารถลงมือทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยต่างๆ ด้วยตนเองด้วยครับ” และเมื่อถามถึงเคล็ดลับในการเรียนให้ประสบความสำเร็จ น้องเชมร็อก กล่าวว่า “ปกติจะต้องตั้งใจเรียนในห้องก่อนครับ และพอกลับมาบ้าน ก็ต้องทบทวนบทเรียนทุกครั้ง และทำการบ้านตามที่คุณครูสั่ง เพราะการทำการบ้านเป็นการทบทวนบทเรียนไปในตัวอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญคุณแม่จะคอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนอยู่เสมอ อย่างเช่นที่มาสอบในครั้งนี้ ท่านก็เป็นคนผลักดันและคอยให้คำแนะนำในการเตรียมตัวสอบ และสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยครับ” สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพบุตรหลานที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูง มีความเป็นอัจฉริยภาพ และควรได้รับการพัฒนา อย่างเต็มขีดความสามารถ สามารถหาข้อมูลการสนับสนุนนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษได้จากจากสถาบันการศึกษาใกล้บ้านท่าน หรือ สามารถติดต่อได้ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โทร 0-2392-40219 ต่อ 2202 - 2207 หรือทางเว็ปไซต์ www3.ipst.ac.th/genius

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ