นาย กร ทัพพะรังสี แถลงผลการเจรจาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี กับหน่วยงานราชการและเอกชนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 14, 2004 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นาย กร ทัพพะรังสี แถลงผลการเจรจาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานราชการและเอกชนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นรุ่งนภา ทัดท่าทรายชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การเจรจาความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชนประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาดังนี้
1. การจัดการความเสี่ยงทางโรคและแมลงที่มีอยู่ในผลไม้สดของไทย เจ้าหน้าที่ของสหรัฐคาดว่าจะมีข้อสรุปได้ในต้นเดือนสิงหาคมว่า ในผลไม้สด 5 ชนิด ซึ่งทางกระทรวงเกษตร ได้มอบหมายให้ศึกษาอยู่นั้น ซึ่งผมได้ไปพบกับผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้วได้คำตอบว่า ข้อมูลของผลไม้ทั้ง 5 ชนิด ที่ไทยเราจะพยายามส่งสินค้าสดเข้าสหรัฐอเมริกาได้นั้น ได้แก่ มังคุด มะม่วง เงาะ ลำไย และสับปะรด ซึ่งต้องประเมินดูก่อนว่ามีโรคและแมลงอะไรบ้าง หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาประเทศไทย เมื่อทราบแล้วต้องให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐพิจารณาและเห็นพ้องต้องกันว่า แมลงและโรคต่าง ๆ เป็นปัญหาผลไม้สดของประเทศไทยนั้น มีจำนวนเท่ากับการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาจริง ต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องมีคำตอบต่อไปว่าถ้าจะเอาผลไม้ทั้ง 5 ชนิดเข้าสหรัฐอเมริกา ต้องมีวิธีกำจัดแมลงและโรคต่าง ๆ โดยวิธีใด นี่คือสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้ อยู่ในขั้นที่ผู้ประเมินของสหรัฐและหน่วยงานเกษตรของประเทศไทยกำลังทำการศึกษาประเมินเบื้องต้นอยู่ในเรื่องการกำจัดแมลงและเชื้อโรค และคาดว่าขั้นตอนการประเมินทั้งหมดจะเสร็จสิ้นได้ประมาณต้นปีหน้า
2. ได้เข้าพบกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ของสหรัฐได้มีความคิดก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่าการที่จะทำการประเมินและวิจัยเรื่องแมลงและเชื้อโรคที่ติดอยู่กับผลไม้และอาหาร ได้ร่วมหารือกันว่าน่าจะมีการตั้งศูนย์เพื่อดำเนินการนี้ในประเทศไทย โดยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรของสหรัฐและกระทรวงเกษตรของไทย ซึ่งขณะนี้เราได้ให้กระทรวงเกษตรเป็นเจ้าภาพหลักและทางด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ด้าน Biotechnology Center ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้กับกระทรวงเกษตร โดยมีแนวคิดที่จะตั้งเป็นศูนย์ร่วมกันกับสหรัฐอเมริกาทางด้านแมลงและเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์สินค้าและอาหารที่ส่งออกจากประเทศไทย
3. ได้พบกับหน่วยงานที่ดูแลทางด้านความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ทางด้านการทดลองการวิจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดของประเทศไทยที่จะนำเข้าสหรัฐได้ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็ได้อยู่ร่วมประชุมต่ออีกหลังจากที่ผมเดินทางออกจากสหรัฐแล้ว
4. การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มมีมาตรการด้านความปลอดภัย จากการก่อการร้ายโดยให้มีการติดไมโครชิพที่ คอนเทนเนอร์ เมื่อปิดคอนเทนเนอร์ แล้วจะต้องมาการประทับตราไมโครชิพลงไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า คอนเทนเนอร์นั้นไม่มีการเปิด ไมโครชิพดังกล่าวสามารถติดตามเส้นทางการเดินทางของคอนเทนเนอร์ได้
โดยดาวเทียม ซึ่งผมได้พูดคุยกับทางกระทรวงเกษตรของสหรัฐว่าไมโครชิพนั้น ทางเนคเทคพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะร่วมกับภาคเอกชนด้านการส่งออกของประเทศไทย เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายได้มากถ้าสามารถทำเองได้ในประเทศไทย โดยรัฐบาลของสหรัฐจะร่วมมือกับประเทศไทยที่จะติดตั้งไมโครชิพในระบบคอนเทนเนอร์ให้แก่ประเทศไทยต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้ยังไม่ได้เป็นการบังคับยังเป็นการทดลองอยู่แต่เชื่อว่าในอนาคตจะบังคับ ประเทศไทยเราก็คงจะต้องเตรียมตัวด้านเทคโนโลยีไมโครชิพไว้ ซึ่งเนคเทคของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความพร้อม
5. ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา และได้ขอความร่วมมือกันทางด้านการวิจัยและพัฒนากับกระทรวงพลังงานของสหรัฐ 3 ด้าน ดังนี้ ด้านแรก Fuel cell ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สามารถจะได้จากพืชอื่น ๆ อีก ซึ่งพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตต่าง ๆ สามารถจะนำมาทำ Fuel cell ได้ ด้านที่สองคือพลังงานทดแทนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และด้านที่สามคือ การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทั้งสามด้านนี้จะมีการทำวิจัยและพัฒนาวิธีการทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้กระทรวงวิทยาศาสตร์จะสามารถดำเนินงานให้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีให้แก่กระทรวงพลังงานต่อไป การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ศูนย์แห่งชาติในสังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมที่จะร่วมทำวิจัยกับกระทรวงพลังงานของสหรัฐ เพื่อนำข้อมูลนั้นส่งต่อให้กับกระทรวงพลังงานของประเทศไทยต่อไป
6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ (Research and Development Corporation : RAND) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสถานภาพคล้ายกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ของประเทศไทย จึงได้มีการลงนามร่วมกันว่าจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศทั้งสอง ซึ่ง สถาบัน RAND มีองค์ความรู้ที่ดีมากที่ประเทศไทยยังเข้าไปไม่ถึงองค์ความรู้เหล่านั้น การลงนามร่วมกันจะทำให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สถาบัน RAND มีอยู่แล้วในศูนย์ข้อมูลและเว็บไซต์ เมื่อและสถาบัน RAND จะส่งบุคลากรมาประเทศไทยเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงต่อว่าประเทศไทยต้องการองค์ความรู้เรื่องอะไรก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้วย
7. ได้เจรจากับสภาธุรกิจอาเซียนสหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Business Council) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมอยู่ด้วยและผมมีความคุ้นเคยกับองค์กรนี้เพราะได้เคยร่วมงานกันแล้ว เมื่อครั้งการจัดงานเอเปคที่ท่านนายกรัฐมนตรี พตท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา สภาธุรกิจอาเซียนสหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Business Council) พร้อมที่จะช่วยประเทศไทยสนับสนุนการตรวจสอบสินค้าของไทยที่จะเข้าสหรัฐ โดยให้มีการตรวจสอบที่ประเทศไทยก่อนออกเดินทางจากประเทศไทย เพราะสินค้าไทยบางชนิด โดยเฉพาะอาหาร ณ วันนี้ยังมีปัญหาเข้าไปที่สหรัฐไม่ได้ไปต้องใช้เวลารอการตรวจสอบผ่านด่านศุลกากรการตรวจทางด้านความปลอดภัยและผ่านด่านกักกันไว้ ทำให้บางครั้งสินค้าเกิดการเน่าเสียและประเทศไทยต้องเสียเงินมากเพราะต้องไปเช่าโกดังเก็บสินค้าที่สหรัฐ ดังนั้น US-ASEAN Business Council จะช่วยประเทศไทยด้านการสนับสนุนการตรวจสอบสินค้า โดยมาตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าที่ประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ก่อนออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อผ่านด่านการตรวจสินค้าที่ประเทศไทยแล้วเมื่อเข้าไปที่สหรัฐจะไม่ต้องตรวจอีกมีการออกใบรับรองให้โดยการตรวจตรงจุดส่งออกสินค้า
8. ได้เจรจากับหน่วยงานสหรัฐทางด้านศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศไทยมีโครงการในจะการย้ายศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ไปอยู่ที่จังหวันครนายก แต่เรื่องนี้ยังค้างมาตั้ง 6-7 ปีแล้วและยังไม่ได้ดำเนินการต่อเลย นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตการณ์การลดค่าเงินบาท ซึ่งทางสหรัฐก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยที่จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีทางด้านนิวเคลียร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางด้านการรักษาโรค และทางการแพทย์ ทางด้านความปลอดภัยของอาหารและการค้นคว้าวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย
เสนอแนวทางความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น มีดังนี้
1. ได้เจรจากับ Mr. Kawamura รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทย และพร้อมจะให้การสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาของไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งญี่ปุ่นจะมีทุนการศึกษาให้ทุกปีในระดับปริญญาโท - เอก รวมทั้งพร้อมจะส่งบุคลากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ เข้ามาประเทศไทย ตามแนวทางสาขาที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งหน่วยงานของไทย คือ สวทช. จะได้ติดต่อไปว่า จะมีแนวทางที่ต้องการนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านใด และประเทศไทยต้องการให้นักเรียน นิสิต-นักศึกษาของไทยไปต่อยอดองค์ความรู้เรื่องอะไรบ้าง เช่น การศึกษาต่อด้านไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีโฟตอนซึ่งเป็นการใช้กรรมวิธีวิทยาศาสตร์ทางด้านการฉายแสง อาทิ โฟตอน อิเล็กตรอน ซินโครตรอน ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร
2. ได้พบกับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางญี่ปุ่นทราบว่าประเทศไทยกำลังตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยกำลังจะออกสมาร์ทการ์ดสำหรับบัตรประชาชน และประเทศไทยได้มีการเปิดศูนย์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของประเทศ การสร้างไมโครชิพเดี๋ยวนี้ ไมโครชิพที่มีขนาดเล็กมีราคาแพงมากซึ่งผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุในรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ในโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องเล่นเทป มีไมโครชิพเป็นส่วนประกอบทุกอย่าง แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ของเราเอง ฉะนั้น ประเทศไทยได้เริ่มแล้วท่านนายกรัฐมนตรี พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ท่านผลักดันให้ศูนย์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย และพร้อมที่จะรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และช่วยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องเป็นผู้สนับสนุนให้กับกระทรวงไอซีทีในเรื่องนี้ ทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และนาโนเทคโนโลยี และการที่กระทรวงมหาดไทยจะออกสมาร์ทการ์ดสำหรับประชาชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็จะต้องเป็นผู้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้แจ้งให้ทางญี่ปุ่นทราบว่าประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการ และรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนันไปสู่การมีเทคโนโลยีของเราเองทางด้านนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะดำเนินการต่อไป
3. ได้ปรึกษากับทางญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยอยากจะหาเทคโนโลยีช่วยกระทรวงพลังงานของไทย การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถโดยสาร การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ ซึ่งขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นก็มีปัญหาคล้ายประเทศไทย คือถังที่จะบรรจุก๊าซธรรมชาติติดอยู่ในพาหนะนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป การแบกน้ำหนักมากไปทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนัก ต้องใช้เชื้อเพลิงมาก ทางญี่ปุ่นก็กำลังคิดค้นอยู่ว่าทำอย่างไรจะทำให้ได้ถังบรรจุก๊าซที่มีน้ำหนักน้อยลง การหาแนวทางพัฒนานำก๊าซธรรมชาติออกมาใช้ให้เกิดมลพิษน้อยลงจนกระทั่งไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ การคิดค้นให้สามารถนำมาทดแทนน้ำมันดีเซลได้และได้กำลังแรงม้าด้วย
4. Solar Energy ในญี่ปุ่น ได้ทำวิจัยกันมาก ที่ญี่ปุ่นใช้พลังงานจากโซลาร์เซลเพื่อนำมาทดแทนไฟฟ้าแบบทั่วไป โดยแปลงพลังงานความร้อนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ในอีก 10 ปีคาดว่าญี่ปุ่นสามารถใช้พลังงานโซลาร์เซลผลิตกระแสไฟฟ้าได้เท่ากับหรือมากกว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศของประเทศไทย
ท่าน รมต.ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายกร ทัพพะรังสี ได้กล่าวสรุปว่า "นี่ก็เป็นแนวทางทั้งหมดที่ได้เจรจาร่วมกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ก้าวกระโดดไป เพื่อสร้างสัมพันธ์กับมิตรประเทศและเป็นคู่คิด ร่วมทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับประเทศที่มีความเก่งทางด้านเทคโนโลยีในสาขาที่ประเทศไทยคิดว่า จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมทางด้านการแข่งขันในเวทีโลกในสาขานั้น ๆ ต่อไป"--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ