องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเดินหน้าหนุนตลาดทุนไทยสู่ระดับภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Monday June 14, 2004 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ Top Executives' Networking Forum 2004 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2547 ที่จ.เพชรบุรี ว่าการเสวนาในหัวข้อ "ตลาดทุนกับการก้าวไปข้างหน้า" ซึ่งเป็นหัวข้อสุดท้ายของการประชุม เป็นการพูดถึงอนาคตของตลาดทุนไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการเชื่อมโยงกับตลาดทุนในภูมิภาค และจะมีการเชื่อมโยงกันในหลายด้าน ทั้งด้านระบบหลังการซื้อขาย การจดทะเบียน และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยตลาดทุนไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย จะมีการเชื่อมโยงกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเชื่อว่าจะเห็นผลในอีก 5-6 ปีข้างหน้านี้
ดร.สมคิดกล่าวด้วยว่า จะมีการจัดทำกรอบความยั่งยืนทางการคลังในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยขอให้บริษัทใน SET50 ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ จะมีการจัดทำดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป็น benchmark ของแต่ละปี เช่น ดัชนีคุณภาพของบุคลากร ดัชนี R&D ดัชนีวัดผลผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทยเพื่อดำเนินการ โดยต้องใช้ตัวเลขที่เป็นรูปธรรมจากบริษัทใน SET50 ซึ่งมี Market Capt. มากกว่าร้อยละ 50 ของตลาด
ด้านผู้เข้าร่วมประชุมในหัวข้อ "ตลาดทุนกับการก้าวไปข้างหน้า" ในวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2547 ได้ร่วมกันให้แนวคิดว่า ในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศในภูมิภาคเอเซียนั้น ต้องมีการพัฒนาการซื้อขายในตลาดตราสารล่วงหน้า การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การลดความผันผวนของตลาดหุ้น รวมถึงการพัฒนาเรื่องคุณภาพของนักวิเคราะห์
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงการออกเอเชียนบอนด์ว่าจะต้องมีการกำจัดอุปสรรคสำคัญที่สำคัญ โดยยกเลิกการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายของการค้าตราสารหนี้ข้ามประเทศ และการลดข้อจำกัดในการปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศในเอเซีย ไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่จะยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง
"พันธบัตรเอเชียนบอนด์เป็นของใหม่ กลยุทธการดำเนินงานต้องเอาเรื่องง่าย ๆ ก่อน กลยุทธ์เริ่มต้นจากส่วนที่เป็น credit risk น้อยที่สุดหรือพันธบัตรที่เป็นของรัฐบาลหรือ sovereign bond แล้วจึงขยายไปยังพันธบัตรที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (Investment grade)
ไทยจะมีการออกเอเชียนบอนด์งวดแรกภายในไม่เกินสิ้นปี 2547 โดยเป็นพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะมีอายุ 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี โดยจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นระบบอิเล็คโทรนิกส์ และมีบ.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ เป็นนายทะเบียน" ดร.โอฬารกล่าว
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มองว่าเอเชียนบอนด์เป็นสิ่งที่ดี และกบข.พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้วปัจจุบัน กบข.ได้ลงทุนในตปท.ไปแล้วประมาณ 7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวคิดของเอเชียนบอนด์ มีความเสี่ยงอยู่ 3 ประการ ประการแรกคือ credit risk ปัจจุบันยังไม่มี standard credit rating agency จึงไม่สามารถเทียงเคียงความเสี่ยงของพันธบัตรในภาคเอกชนระหว่างประเทศได้
ประการที่สอง คือ interest rate risk ถือว่ามีน้อย เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าต่างประเทศ ประการที่สาม คือ exchange risk ต้องมีการเตรียมการเพราะกองทุนปัจจุบันต้อง mark to market ทั้งหมด
ทั้งนี้ ดร.โอฬาร ได้กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าว และจะมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในอาเซียนเพื่อทำให้เรื่องเหล่านี้ชัดเจนขึ้น
นายวิสิฐได้กล่าวต่อว่า "ควรมีการลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยลงเหลือประมาณ 25% โดยหากดูสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน 32% เมื่อเทียบกับต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ18%
นอกจากนี้ ควรมีการเพิ่มฐานนักลงทุนให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่มีนักลงทุนรายย่อยประมาณ 3 แสนบัญชี ซึ่งถือว่ายังไม่มาก โดยนักลงทุนรายย่อยมีการซื้อขายประมาณ 70% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาด ที่เหลือ20% เป็นการซื้อขายของสถาบันในประเทศและอีก 10% เป็นการซื้อขายของสถาบันต่างประเทศ ดังนั้น ควรต้องมีการเพิ่มสินค้าในตลท. ให้มากขึ้น ซึ่งน่าเสียดายที่มีการเลื่อนการจดทะเบียนรัฐวิสาหกิจไป นอกจากนี้ ยังต้องมีการส่งเสริมเรื่องบรรษัทภิบาลให้มากขึ้น เพราะนักลงทุนสถาบัน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ กบข.มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนด้วย
ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า อนาคตของตลาดทุนไทย จะต้องมีการพัฒนาไปสู่ regionalization ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องมีการพัฒนาในหลายด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภาวะแวดล้อมที่จะนำไปสู่ภาวะดังกล่าว
ประการแรก ระบบไอทีต้องเร็วและอำนวยความสะดวกต่อการทำงานของนักวิเคราะห์ ต้องสามารถให้ข้อมูลที่เรียลไทม์ รวดเร็วและครบถ้วน ประการที่ 2 เพิ่มทั้งจำนวนและคุณภาพของนักวิเคราะห์ และให้นักวิเคราะห์ทำงานโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานในการวิเคราะห์มากขึ้น มีการจัดอบรมให้ความรู้นักวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะทำงานร่วมบ.เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด เผยแพร่ผลสำรวจการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เป็น Consensus เพื่อให้นักลงทุนเข้าไปดูได้ ประการที่ 3 ควรมีการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นระบบ และกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการให้ข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เนื่องจากปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลดังกล่าว
ประการที่ 4 ควรทำอนุสนธิสัญญาภาษีซ้อน (Double Tax Treaties) กับประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น
ประการที่ 5 ควรมีการพัฒนาตลาด Venture Capital และ Private equity เพื่อเชื่อมโยงบริษัทให้เข้ามาจดทะเบียนในตลท. ประการที่ 6 ควรเพิ่มคุณภาพนักลงทุน และเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันอย่างจริงจัง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมเรื่องบรรษัทภิบาล โดยให้บจ.เพิ่มฟรีโฟลต เพราะมีผลต่อน้ำหนักในการคำนวณดัชนี MSCI
Mark Fuchs, Managing Director, Credit Suisse First Boston Securities (Thailand) Limited กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราให้ความสนใจกับตลาดในระยะสั้นมากเกินไป ต้องเน้นว่าเราควรให้ความสนใจในระยะยาวมากกว่า รวมทั้ง ต้องมีการส่งเสริมให้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และต้องส่งเสริมให้นักลงทุนมีความเข้าใจ เช่น Short sell โดยเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่เป็นการลงทุนในทิศทางที่ต่างออกไป และมองว่าเป็นการสัญญาว่าจะมีการซื้อหลักทรัพย์คืนในอนาคต และช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ควรให้ความสนใจกับการมีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน แทนผู้บริหารของบริษัทได้
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมในการแถลงข่าวผลการประชุมดังกล่าวด้วยว่า สภาธุรกิจตลาดทุน ที่จะมีการจัดตั้งขึ้น จะมีภารกิจหลักที่จะเริ่มทำ ได้แก่ การจัดงาน Thailand Focus ซึ่งเป็นการเชิญผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามารับฟังข้อมูลในประเทศไทย การจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน โดยตลท.จะลงทุน 300 ล้านบาทเพื่อจัดตั้ง และเงินสมทบจากบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ อีก 200 ล้านบาท และการผลักดันเรื่องการทำอนุสนธิสัญญาภาษีซ้อน รวมทั้ง จะมีการส่งเสริม Venture Capital ให้เป็นกลไกในการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น
นอกจากนี้ตลท. จะจัดตั้งหน่วยงาน SET50 เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและส่งเสริมการทำงานของบริษัทใน SET50 ให้เป็นแบบอย่างของบจ.อีกกว่า 300 แห่งด้วย
"บลจ.ทั้ง 14 แห่งได้แสดงความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนระยะยาวเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระยะยาว โดยจะจัดตั้งครบทั้ง 14 กองทุนเพื่อลงทุนในระยะยาว ทุกกองทุนจะลงทุนอย่างน้อยกองทุนละ 100 ล้านบาทและในช่วงแรกจะมีบางสถาบันลงเงินทุนเริ่มต้นให้ โดยตลท.จะเป็นผู้ประสานงานให้ และจะนำเงินบางส่วนของตลท.ไปลงทุนด้วย" นายกิตติรัตน์กล่าวสรุปในตอนท้าย
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 - 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์
โทร. 0-2229 - 2037 ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 - 2049--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ