อ.ส.ค.ย้ำบริหารจัดการนมโรงเรียนได้ผล เกษตรกรพอใจแก้ปัญหานมดิบล้นได้ มั่นใจศักยภาพรองรับตลาดอาเซียนเปิด

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2012 08:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--โฟร์ฮันเดรท นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) ผู้ผลิตนมไทย-เดนมาร์ค เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวพาดพิงถึงโครงการนมโรงเรียน ว่าอ.ส.ค. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพนมโรงเรียนได้เกือบทั้งหมด หากเปิดแข่งขันเสรีผู้ประกอบการจะแข่งขันกันด้านราคาและทำให้เกิดปัญหาคุณภาพนมโรงเรียนเหมือนเช่นในอดีต สำหรับ การจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายนมโรงเรียนที่ผ่านมานั้น ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากมิลค์บอร์ด ซึ่งได้ยึดถือการช่วยเหลือเกษตรกรโคนมเป็นหลัก ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนตาม mou ที่ได้ทำกับเกษตรกรไว้ ซึ่งนำ mou มาเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรสิทธิการจำหน่าย เพื่อให้เป็นไปตามมติครม. ปี 2552 ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้ประกอบการโรงใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตมากย่อมต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบ จากเกษตรกรได้มากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องเป็นผู้เสียสละในการลดสิทธิ์การจำหน่ายลงมากกว่ารายเล็ก ตลอด 5 ภาคเรียนที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละภาคเรียน นายนพดล กล่าวต่อว่า แต่ที่น่ากังวล คือ ปัจจุบันมีเหลือบในคราบของเกษตรกร และผู้ประกอบการเข้าไปจัดตั้งศูนย์รับนม เพื่อแย่งซื้อนมดิบ โดยหวังผลจะเข้ามาขายในโครงการนมโรงเรียน และเมื่อได้เข้ามาขายในโครงการนมโรงเรียนแล้ว ก็ไม่รับผิดชอบนมดิบของเกษตรกรตาม mou ที่ทำไว้ เป็นเหตุให้สหกรณ์โคนมที่มีอยู่เดิมไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ “ผมอยากเรียนให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่ ก็ใช้น้ำนมดิบที่ซื้อจากเกษตรกรหรือสหกรณ์โคนมในประเทศทั้งสิ้น ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหานมดิบล้นตลาด ทางภาครัฐก็ได้อาศัยผู้ประกอบการรายใหญ่ในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรมาโดยตลอด การกล่าวว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประโยชน์จากโครงกการนมโรงเรียนมากกว่าจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ควรจะพิจารณาบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย และจากการสอบถามเกษตรกร และผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโครงการนมโรงเรียนของ อ.ส.ค. ในระยะที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและต้องการให้ อ.ส.ค. ดำเนินการต่อไปอย่างน้อยถึงปี 2558 ซึ่งเป็นช่วง AEC เปิด” นายนพดล ตันวิเชียรกล่าว กราฟแสดงสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนแยกตามกลุ่มผู้ประกอบการในช่วง 5 เทอมที่ผ่านมา นำเสนอข่าวโดยบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง โทร. 02-553-3161-3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ