กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.47) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว เรื่อง ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล, ความก้าวหน้าการดำเนินงานกองทุนชุมชนเมือง, การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของกรุงเทพมหานคร เป็น OTOP CHAMPION, และร้านรวมบริการ ONE STOP SHOP โดยมี นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายชาญชัย ภาวสุทธิการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน ร่วมแถลงข่าว
พื้นที่กทม. ปัญหาที่อยู่อาศัยมาอันดับหนึ่ง
กรุงเทพมหานครดำเนินการตามนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของรัฐบาล โดยการรับจดทะเบียนประชาชน ผู้ประสบปัญหาเดือดร้อนในปัญหา 7 เรื่อง และปัญหาอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนประชาชนมาจดทะเบียนทั้ง 50 เขต จำนวน 394,065 คน ในจำนวนนี้เป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพฯ 272,933 คน ที่เหลือเป็นประชาชนต่างจังหวัดจำนวน 121,132 คน ซึ่งปัญหาที่มีผู้จดทะเบียนมากอันดับ 1 ในเขตกรุงเทพฯ คือ ปัญหาที่อยู่อาศัย และอันดับ 2 คือปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ในการนี้กรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนเชิงบูรณาการกรุงเทพมหานคร (ศตจ.กทม.) และแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ เพื่อกำกับดูแลและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาที่ดินทำกิน คณะกรรมการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาอื่นๆ และคณะกรรมการแผนงานพัฒนาชุมชน ซึ่งคณะกรรมการชุดต่างๆ เหล่านี้จะนำนโยบายในระดับชาติมาปรับเป็นแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป
กทม.ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความยากจนเบื้องต้นแล้วเกือบหมื่นราย
กทม.โดยสำนักงานเขต 50 เขตได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจนในเบื้องต้นแล้ว จำนวน 9,741 ราย ซึ่งลักษณะการช่วยเหลือส่วนใหญ่จะแจ้งประสานหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจรับผิดชอบปัญหาโดยตรง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ส่วนปัญหาที่สำนักงานเขตสามารถช่วยเหลือได้เองในเบื้องต้น ก็ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแล้ว ดังนี้ 1.ปัญหาที่ดิน มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 14,554 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 15 ราย 2.ปัญหาคนเร่ร่อน มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 360 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 43 ราย 3.ปัญหาผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 372 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 15 ราย 4.ปัญหานักเรียนนักศึกษาต้องการมีรายได้ มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 17,230 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 1,353 ราย 5.ปัญหาการถูกหลอกลวง มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 2,920 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 5 ราย 6.ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 137,422 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 646 ราย 7.ปัญหาที่อยู่อาศัย มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 259,458 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 4,460 ราย และ 8.ปัญหาอื่นๆ มีผู้มาจดทะเบียนจำนวน 136,225 ราย ช่วยเหลือเบื้องต้น 2,930 ราย รวมจำนวนผู้ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 9,791 ราย
ตั้งทีมเจรจาหนี้ 208 ทีม นำหนี้เข้าระบบ
ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน เป้าหมายแรกที่ กทม.ดำเนินการคือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้ประชุมชี้แจงแนวทางให้ทุกสำนักงานเขตแต่งตั้งคณะผู้เจรจาหนี้สินของเขต รวมจำนวน 208 ทีม โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคชุมชน และภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประสานแจ้งเชิญลูกหนี้ผู้จดทะเบียนและเจ้าหนี้มาเจรจา ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดเพื่อนำหนี้เข้าเป็นหนี้ในระบบ คือให้ลูกหนี้กลายเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2547 นี้อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนให้แก่ประชาชนในปัญหาต่างๆ นั้น บุคคลมักจะมีปัญหาเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ เช่น ผู้ที่มีปัญหาหนี้สินก็จะมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและต้องการมีอาชีพเสริมหรือมีงานทำ เป็นต้น ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหานั้น กรุงเทพมหานครจะยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชน ชุมชน และภาคราชการจะต้องช่วยเหลือสนับสนุน ซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบาย
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กทม.
ด้านการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกรุงเทพมหานครนั้น ปัจจุบันมีกองทุนที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 1,300 กองทุน มีชุมชนและหมู่บ้านกรุงเทพมหานครได้รับโอนเงินแล้วจำนวน 836 กองทุน ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการระดับกทม. ในวันที่ 16 มิ.ย.47 อีกจำนวน 24 กองทุน ส่วนกองทุนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ในการนี้ได้มีการพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่สมาชิก กองทุนไปแล้ว จำนวน 775.28 ล้านบาท ซึ่งสมาชิกได้ส่งชำระคืนเงินกู้เป็นเงินต้น 358.06 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ย 34.29 ล้านบาท ทั้งนี้มีสมาชิกกู้ยืมเงินทั้งสิ้นจำนวน 36,926 คน แยกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมได้ ดังนี้ 1.กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 29,910 คน แยกเป็น ค้าขาย จำนวน 19,201 คน รับจ้าง,บริการ จำนวน 4,062 คน อุตสาหกรรมครัวเรือน จำนวน 1,453 คน เกษตรกรรม จำนวน 2,585 คน และอื่นๆ จำนวน 2,609 คน 2.กู้ยืมเพื่อชำระหนี้ จำนวน 3,692 คน 3.กู้ยืมเพื่อบรรเทาเหตุฉุกเฉินและเดือดร้อน จำนวน 1,477 คน และ 4.กู้ยืมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย จำนวน 1,847 คน
การดำเนินงานกองทุนชุมชนทำให้สมาชิกและครอบครัวมีการสร้างรายได้เพิ่ม มีเงินออมสำหรับตนเองและครอบครัว ลดภาระหนี้สินโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ มีแหล่งเงินทุนสำหรับกู้เพื่อประกอบอาชีพในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และบริหารจัดการโดยชุมชนเอง มีการสร้างอาชีพใหม่ ขยายกิจการเดิม เพื่อก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกองทุน เกิดรูปแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคการเมือง ข้าราชการ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน และสมาชิกในชุมชนมีความมั่นคงในชีวิต มีการพึ่งพาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น
คัดสรรสุดยอด OTOP กทม.
ในส่วนการดำเนินการสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของกรุงเทพมหานครนั้น กทม.ได้ดำเนินการรับลงทะเบียน ผลิตภัณฑ์ในแต่ละเขตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-4 มิ.ย.47 และได้รายงานผลการลงทะเบียนไปยังกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.47 แล้ว โดยมีผู้มายื่นขอลงทะเบียน จำนวน 1,724 ราย ไม่ผ่านการรับรอง จำนวน 7 ราย รวมจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองการลงทะเบียน จำนวน 1,717 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้ผลิตชุมชน 469 ราย ผู้ประกอบการ SMEs 1,248 ราย โดยในวันที่ 25-28 มิ.ย.47 นี้ กทม.จะนำสินค้า OTOP ร่วมงานมหกรรม OTOP รากหญ้าสู่ท่าพระจันทร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวันที่ 11-16 ก.ค.47 จะร่วมจัดแสดงมหกรรม OTOP ในการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ณ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี ด้วย
ร้านรวมบริการ ONE STOP SHOP
กรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้ง “ร้านรวมบริการ” (ONE STOP SHOP) ที่บริเวณหน้าโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง2) ซึ่งบริหารงานโดยคณะครู อาจารย์ โรงเรียนฝึกอาชีพในรูปแบบสหกรณ์ เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.47 เป็นต้นมา เป็นสถานที่ที่รองรับผลิตภัณฑ์และบริการของนักศึกษาโรงเรียนฝึกอาชีพ เพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือและทักษะในวิชาชีพของนักศึกษา ก่อให้เกิดความชำนาญและมีความมั่นใจ ตลอดจนเพื่อฝึกหัดการเรียนรู้รูปแบบการบริหารงานร้านค้า เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปประกอบอาชีพต่อไป โดยร้านรวมบริการมีสินค้าและบริการ ดังนี้ บริการเสริมสวย, ตัดผมชาย, นวดแผนไทย, เสื้อผ้า, ศิลปประดิษฐ์, ศิลปประยุกต์, และร้านกาแฟ — เบเกอรี่ ขนมไทย ที่มีรูปแบบทันสมัย เปิดให้บริการวันจันทร์ — ศุกร์ ระหว่างเวลา 07.30-18.00 น.--จบ--
-นห-