ส.อ.ท. ผนึกกำลัง 4 พันธมิตร ไทย — ญี่ปุ่น ปลุก!! ทุกภาคส่วนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งสู่การเป็นสังคมปลดปล่อยมลพิษต่ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2012 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ The Kansai-Asia Environmental and Energy-Saving Promotion Forum (TEAM E-Kansai) และ The Japan External Trade Organization (JETRO)? Bangkok โดยได้การสนับสนุนจาก บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Osaka Chamber of Commerce and Industry (OCCI) จัดงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “Low Emission Society” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ณ ห้อง GH 202 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายในการส่งเสริมสังคมมลพิษต่ำของประเทศไทย” ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานจากประเทศญี่ปุ่น อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน และมีการปล่อยมลพิษต่ำ (Low Emission Society) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน (Global Warming) ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสนใจและมีความมุ่งมั่นในการพยายามที่จะลดมลภาวะอย่างจริงจังเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมมลพิษต่ำ (Low Emission society) สังคมมลพิษต่ำ (Low Emission Society) เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีองค์ประกอบของคาร์บอนน้อย และแทนที่การใช้พลังงานรูปแบบเดิมด้วยพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำ ขณะเดียวกันก็ลดการปลดปล่อยมลพิษทั้งน้ำเสีย การปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ และลดการเกิดของเสีย แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในหลายประเทศเริ่มมีการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมมลพิษต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการวางระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานานแล้ว รวมถึงการนำหลักการ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) มาใช้ในการพัฒนาสู่การเป็น Eco Town ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมี ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ โดยปราศจากมาตรการในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือมีประสิทธิภาพ ในขณะที่มาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ โดยจากข้อมูลในปี ค.ศ. 1970 — 2004 พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในอัตราปีละไม่น้อยกว่า 1.6 % โดยในปี 2008 ทั่วโลกมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 29,888 ล้านตัน ซึ่งเฉพาะประเทศไทยเองได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 285 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.95% ของทั้งโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1,208 ล้านตัน โดยประเทศที่ปล่อย CO2 เป็นปริมาณมากในลำดับต้นๆ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย อย่างไรก็ตาม การประชุมนานาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (COP-15) เมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน และนานาประเทศต่างให้ความสนใจและมีความมุ่งมั่นในการพยายามที่จะลดมลภาวะอย่างจริงจังเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมมลพิษต่ำ หรือ Low Emission Society “สำหรับประเทศไทย รัฐบาลปัจจุบัน มีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ลดการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยหลักการ ลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ (3Rs) เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบสภาวะแวดล้อม และพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานหลักและมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญในการควบคุมกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคง ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ด้วยการมุ่งมั่นในเรื่องของการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระดับของการเป็นอุตสาหกรรม สีเขียวแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ 1) ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 2) ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 3) ระบบสีเขียว (Green System) 4) วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) และ 5) เครือข่ายสีเขียว (Green Network) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industrial Town) อันสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยมลพิษ จะเป็นจริงได้ต้องเกิดจากการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา NGO รวมถึงสื่อมวลชน ด้วยการปฏิบัติอย่างมีจิตสำนึกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง โดยแต่ละภาคส่วนต้องเกื้อกูล ร่วมมือกันด้วยจิตใจที่ไม่มีอคติ ยึดหลักความถูกต้องและเป็นธรรม และการที่จะเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้โลกเราสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต และให้คนรุ่นต่อไปสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีทรัพยากรเพียงพอ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดำรงชีวิตต่อไป” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ว่า งานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมืออันดีระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ The Kansai-Asia Environmental and Energy-Saving Business Promotion Forum (TEAM E-Kansai) และ The Japan External Trade Organization (JETRO)? Bangkok โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Osaka Chamber of Commerce and Industry (OCCI) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยการเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นเวทีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีการปลดปล่อยมลพิษต่ำ (Low Emission Society) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น “เราคงไม่ปฏิเสธว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นการร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นนโยบายที่สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ความสำคัญและมีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด และเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมา แล้วปัญหาต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขจนคลี่คลายได้ด้วยดี ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการมลพิษที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังสามารถสร้างเมืองอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ (Economy) จนเป็นประเทศชั้นนำของโลกประเทศหนึ่งได้นั้น จะเป็นประเทศที่สามารถนำประสบการณ์ที่ดีมาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อการมุ่งสู่การเป็นสังคมปลดปล่อยมลพิษต่ำร่วมกันได้ ความร่วมมือในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งภายในงานได้จัดให้มีการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการมลพิษของผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกิจกรรมที่ได้ดำเนินการของภาคอุตสาหกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีในการบริหารจัดการมลพิษของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นร่วมกัน โดยคาดหวังว่าความรู้ที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับในครั้งนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยสามารถคงไว้ซึ่งความเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไปได้” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ