สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพฤษภาคม 2547

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2004 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมฟื้นตัว เหตุจากยอดคำสั่งซื้อปรับตัวดีขึ้นและอานิสงส์จากที่รัฐเดินหน้าตรึงราคาดีเซลต่อ แต่เอกชนยังหวั่น 3 เดือนหน้า ผลกระทบจากการขึ้นราคาเบนซินอาจฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคลด จนกระทบยอดคำสั่งซื้อสินค้า ซ้ำต้องรับภาระค่า FT ไฟฟ้าที่อาจปรับตัวขึ้นเดือนตุลาคม
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม2547 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 420 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 30 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 101.8 จาก 98.2 ในเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น เนื่องมาจากค่าดัชนี 2 ใน 5 ตัวที่นำมาใช้คำนวณปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือค่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อ และปริมาณการผลิต เพิ่มขึ้นจาก 120.4 และ 108.4 เป็น 123.3 และ 120.8 ในเดือนพฤษภาคม 2547 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น 3 ตัวที่เหลือปรับตัวลดลง ดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นยอดขาย ต้นทุนการประกอบการ และกำไรสุทธิ ลดลงจาก 132.1 51.5 และ 119.0 ในเดือนเมษายน เป็น 125.8 50.2 และ 106.7 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดคำสั่งซื้อของภาคอุตสาห-กรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากในเดือนพฤษภาคมขณะทำการสำรวจ ปัญหาความไม่แน่นอนของสถาน-การณ์ภาคใต้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาคใต้เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินเพื่อลดภาระการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนการประกอบการที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมลดลง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการผลิต ตลาดทุนและภาคธุรกิจอื่นๆ ควบคู่กับเดินหน้าเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อขยายตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังมีความกังวลใจต่อสภาวะการค้าการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพราะเห็นว่าแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้รัฐไม่อาจตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามอย่างแน่นอน นอกจากนี้ การที่รัฐประกาศปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้กำลังซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลง ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ตลอดจนเร่งผลักดันนโยบายรณรงค์ใช้ สินค้าไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือ มีค่าต่อไปนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2547 ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ สินค้าคงเหลือ และการจ้างงาน เพิ่มขึ้นจาก 129.5 132.8 102.7 และ 104.9 ในเดือนเมษายน เป็น 133.4 127.9 117.4 และ 106.9 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อการใช้กำลังการผลิต สินเชื่อในการประกอบการที่ได้รับ และความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 114.0 106.1 และ 115.4 ในเดือนเมษายน เป็น 115.2 107.4 และ 119.6 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และต่อสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 119.2 และ 126.3 ในเดือนเมษายน เป็น 125.8 และ 126.8 ในเดือนพฤษภาคม สำหรับค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดขายในประเทศ ราคาขายและต่อการลงทุนของกิจการท่าน ลดลงจาก 134.1 132.8 111.2 และ 111.5 ในเดือนเมษายน เป็น 127.5 127.9 109.7 และ 110.6 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาพคล่องของกิจการ ความสามารถในการแข่งขันในประเทศ และต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ลดลงจาก 125.9 117.7 และ 126.9 ในเดือนเมษายน เป็น 120.7 112.6 และ 122.1 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกในตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 30 กลุ่ม พบว่า เมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม 2547 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 7 กลุ่มอุตสาหกรรม และคงที่ 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลง มี 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่าง ชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดลงจาก 98.6 เป็น 82.9 ซึ่งเนื่องมาจากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องราคาเหล็กและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน มี 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 77.8 เป็น 98.6 อุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นจาก 86.7 เป็น 97.8 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 88.6 เป็น 101.4 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 107.0 เป็น 123.4 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 92.9 เป็น 114.5 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 87.1 เป็น 98.6 สำหรับสาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้าง และเครื่องใช้ภายในบ้านเป็นที่ต้องการในตลาด ในส่วนของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอย่างมากเนื่องจากในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ทำให้ยอดคำสั่งซื้อกระดาษเพื่อพิมพ์แบบเรียนเพิ่มขึ้น ในด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าในอนาคตราคาค่าบริการสาธารณูปโภคและสภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการมากขึ้น
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 92.0 เป็น 91.2 เนื่องมาจากยอดขายและกำไรในปัจจุบันลดลง ขณะที่ต้นทุนในการประกอบการโดยเฉพาะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จาก 99.7 และ 101.8 เป็น 106.7 และ 111.4 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องมาจากยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด เห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อกิจการในปัจจุบันและอนาคต คือ อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และเห็นว่าราคาน้ำมันและค่าบริการสาธารณูปโภคยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต
งานประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2229-4255 ต่อ 122 และ 123 โทรสาร 0-2229-4941--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ