ถกทางออกสิทธิเหยื่อ-การเยียวยา กรรมการสิทธิฯแนะยกเลิกกฎหมายพิเศษ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 26, 2012 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมา คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดเวทีสาธารณะ “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ โดยในการอภิปรายในหัวข้อ สิทธิเหยื่อซ้อมทรมาน การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เห็นว่าควรมีมาตรการการทางกฎหมายคือ1.ประกาศยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ หากประกาศเลิกไม่ได้ด้วยเหตุผลความมั่นคงก็ควรงดใช้บางช่วงเวลา หากยังยกเลิกหรือไม่งดเว้นก็ควรลดระดับความรุนแรงลง 2.ควรมีการอนุวัติกฎหมายไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) 3.ลงสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเร็ว เพื่อนำมาซึ่งผลในทางปฏิบัติ ขณะที่มาตรการด้านกลไกการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนควรมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน มีหลักฐานตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่รัฐ “การทำงานในการตรวจสอบการกระทำ การละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการประสงค์ที่จะให้คำร้องลักษณะนี้มีจำนวนคงที่หรือลดน้อยลงโดยขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นสาเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตามสาเหตุหนึ่งของการซ้อมทรมาน คือ การใช้กฎหมายพิเศษโดยเฉพาะกฎหมายสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งก่อให้เกิดการซ้อมทรมานเพื่อขยายผลการดำเนินคดี ในเชิงของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมักคิดว่า คณะกรรมการสิทธิปกป้องผู้ที่กระทำความผิด ส่วนประชาชนมักเข้าใจว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งแท้ที่จริงเป็นองค์กรอิสระ ประชาชนสามารถเข้าขอความช่วยเหลือได้ ส่วนการนำข้อมูลที่ได้จากการซ้อมทรมานมาใช้ในชั้นพิจารณาของศาลนั้น ควรพิจารณาด้วยว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่”นายไพบูลย์ กล่าว นางสาวนริศราวรรณ แก้วนพรัตน์ ญาติพลทหารวิเชียร เผือกสม เหยื่อซ้อมทรมาน กล่าวว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้เข้าสมัครเป็นพลทหารที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยที่ทางบ้านไม่มีผู้ใดทราบ ทราบเพียงแต่ผู้ตายออกหางานทำ 6 เดือน ต่อมาได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ว่าพลทหารวิเชียร อยู่ห้องไอซียู ครอบครัวจึงเดินทางไปที่โรงพยาบาล และพบว่าขณะนั้นผู้ตายบาดเจ็บสาหัส ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำหลายแห่งและเสียชีวิตในวันถัดมา ทราบภายหลังว่าผู้ตายได้แจ้งพยาบาลก่อนหมดสติว่าถูกทหารจำนวนประมาณ 10 คนรุมทำร้าย ในจำนวนนี้มีทหารยศร้อยโทเป็นผู้สั่งการ ตนและครอบครัวได้ทำหนังสือร้องเรียนที่ต้นสังกัดและดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จากการดำเนินคดีปรากฏว่าทหาร 9 นายถูกดำเนินคดี ส่วนร้อยโทที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการถูกคุมขังเพียง 15 วัน และปัจจุบันยังไม่ถูกดำเนินคดี “ตนเองและครองครัวถูกข่มขู่และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ขณะที่คดีดังกล่าวถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) และโอนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ทั้งนี้ยืนยันว่าตนมีเอกสารชัดเจนที่จะเอาผิดร้อยโทในกรณีนี้ แต่เมื่อตรวจสอบสำนวนที่ ปปท. ปรากฏว่าไม่พบเอกสารส่วนที่เอาผิดกับร้อยโทดังกล่าวได้ ขณะที่ศาลทหาร เลือกที่จะดำเนินคดีตามมาตรา 157 เท่านั้น ส่วนข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนายังอยู่ในระหว่างการชี้มูลของ ปปท.” นางพูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการทรมาน มูลนิธิประสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หากมีร่างกฎหมายเฉพาะเรื่องการป้องกันการทรมานจะทำให้มีคณะกรรมการเข้ามาดูแลเรื่องการทรมานโดยเฉพาะ และมีพนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสามารถสร้างพนักงานสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และมีการอนุวัติตามพันธกรณีได้ครบถ้วนมากกว่าและมีสภาพบังคับมากกว่าการใช้กลไกการบริหารอย่างเดียว นอกจากนี้ยังสามารถสร้างมาตรฐานการเยียวยาที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย คือ 1. สิ้นเปลืองงบประมาณที่ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 2. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สับสนเพราะมีกฎหมายหลายฉบับ 3. จากประสบการณ์ของไทยการตั้งองค์กรใหม่ไม่ค่อยฟังก์ชั่น ในการนี้ยังได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ปัญหาการซ้อมทรมานเกิดมากในช่วงการคุมขัง 7 วัน ตามกฎอัยการศึกหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นางสาวซุกกรียะห์ บาเหะ ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ได้ศึกษาวิจัยผลกระทบจากการทรมานโดยได้ทำการศึกษาวิจัยผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในเรือนจำกลางสงขลา จำนวน 70 คน พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างได้รับผลกระทบจากการทรมานขณะถูกควบคุมตัว หรือระหว่างการซักถามภายใต้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยอาการทางจิติใจของผู้ถูกทรมานคือ อาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า รู้สึกผิด หวาดระแวง สับสน นอนไม่หลับฝันร้ายและสูญเสียความทรงจำ ขณะที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงของประเทศคือ ชุมชน หรือสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อสูญเสียความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อรัฐ ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ