กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สนพ.
ก.พลังงานสรุปปิดปั๊มหลังเที่ยงคืน ภาคใต้ครองแชมป์ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากสุด และประหยัดการใช้น้ำมันได้กว่า 100 ล้านบาท วอนให้ประชาชนร่วมมือประหยัดพลังงานเพิ่มอีก ภายหลังมาตรการลดใช้น้ำมันประสบผลสำเร็จ
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบประกาศนียบัตรแก่สถานีบริการน้ำมันที่สนับสนุนนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาลด้วยการปิดบริการหลังเที่ยงคืน ณ จ.อุดรธานีว่า กระทรวงพลังงานได้สรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และ 8 มิถุนายน 2547 เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2547 ที่ผ่านมาพบว่ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับโดยเฉพาะมาตรการปิดสถานีจำหน่ายน้ำมันหลังเวลา 24.00 น. พบว่าสถานีจำหน่ายน้ำมันทั้งประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7,034 แห่ง แบ่งเป็นในเขต กทม. 809 สถานี และต่างจังหวัด 6,225 สถานีให้ความร่วมมือในการปิดบริการแล้วจำนวน ทั้งสิ้น 3984 สถานี หรือคิดเป็น 60.7% และอยู่ระหว่างการทยอยปิดสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ประชาชนลดการใช้น้ำมันได้ลง (รวมทุกผลิตภัณฑ์) 5% หรือประหยัดได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อวัน
โดยกระทรวงพลังงานได้มอบป้ายผ้าขอบคุณสถานีบริการที่ให้ความร่วมมือ โดยมีข้อความว่า “ปั๊มนี้ช่วยชาติ ปิดบริการ 24.00-05.00 น. 60 ล้านไทย ลดใช้พลังงาน” และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ยกย่องหน่วยงานภาครัฐเอกชนและบุคคลที่ให้ความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้ร่วมมือกับรัฐเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน ได้สำรวจสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศพบว่าในส่วนของการปิดสถานีบริการน้ำมันในแต่ละพื้นที่ มีรายละเอียดดังนี้ พื้นที่กทม. และปริมณฑล มีจำนวน 809 สถานี ให้ความร่วมปิดบริการ 240 สถานี คิดเป็นร้อยละ 30 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 1และ 2 (ภาคกลาง) มีจำนวน 836 สถานี ให้ความร่วมมือปิดบริการ 413 สถานี คิดเป็นร้อยละ 49 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 3 (ภาคตะวันออก) มีจำนวน 603 สถานี ให้ความร่วมมือปิดบริการ 447 สถานี คิดเป็นร้อยละ 74 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 4 (ภาคตะวันตก) มีจำนวน 247 สถานี ให้ความร่วมมือปิดบริการ 137 สถานี คิดเป็นร้อยละ 55 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 5 ,6 และ 7 (ภาคอีสาน) มีจำนวน 1626 สถานี ให้ความร่วมมือปิดบริการ 1049 สถานี คิดเป็นร้อยละ 64 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 8,9 และ 10 (ภาคเหนือ) มีจำนวน 1572
สถานี ให้ความร่วมมือปิดสถานี 947 สถานี คิดเป็นร้อยละ 60 พื้นที่สำนักงานภูมิภาค 11 และ 12 (ภาคใต้) มีจำนวน 1087 สถานี ให้ความร่วมมือปิดสถานี 907 สถานี คิดเป็น ร้อยละ 83
“กระทรวงพลังงาน ขอขอบคุณประชาชนทั่วประเทศที่ร่วมใจกันประหยัดพลังงานตามมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งสถานีบริการน้ำมันของแต่ละบริษัทก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชน รู้จักการใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่า และช่วยให้ประเทศชาติประหยัดเงินตราการนำเข้าพลังงานได้เพิ่มขึ้น”
นายแพทย์พรหมินทร์ กล่าวเพิ่มว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในปัจจุบัน จะมีแนวโน้มที่คลี่คลายลง หลังจากที่สหรัฐส่งมอบอำนาจการดูแลประเทศแก่อิรักเร็วกว่ากำหนดการเดิม และการที่ธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้กองทุนเก็งกำไรหรือเฮจฟันด์
มีการเข้าไปกว้านซื้อน้ำมันลดน้อยลงจากเดิม 80 ล้านบาร์เรล เหลือ 20 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต้องเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันเบนซิน
อย่างไรก็ตามในส่วนของน้ำมันดีเซลนั้น รัฐบาลยังต้องชดเชยอยู่ประมาณ 1 บาทต่อลิตร หรือวันละ 70 ล้านบาท
ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้เร่งส่งเสริมการนำพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทนมาใช้ให้มากขึ้น เช่นการใช้พลังงานจากชีวภาพ เช่น ก๊าซโซฮอล์ ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ มาเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากพลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ในปี 2554 และมีเป้าหมายที่ขยายการใช้แก๊สโซฮอลล์ให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2549 และเป็น 3 ล้านลิตรต่อในปี 2554 โดยจะค่อยๆ ใช้เอทานอลทดแทนสาร MTBE ซึ่งจะมีโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทไทยแอลกอฮอลล์ (มหาชน) กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.ค. 47 และบริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด 130,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 47--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--