“อำนวย ชำนาญ” ครูผู้ใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็น “ห้องเรียน” ให้ “โอกาส” และ “ศิลปะ” แก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2012 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอแอมพีอาร์ ในมุมมองของสังคมส่วนใหญ่ มักจะมองว่าผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครู” นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน แต่สำหรับหนุ่มใหญ่คนหนึ่งกว่าที่สังคมจะให้การยอมรับ และเรียกคำนำหน้าชื่อว่า “ครู” อย่างอย่างสนิทปากและสนิทใจนั้น ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองนานกว่า 20 ปี เพราะวิถีแห่งการเป็นครูของเขานั้นเริ่มต้นด้วยการเป็น “นักเลง” แล้วถลำลึกมาเป็น “ขี้ยา” ก่อนถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “บ้า” “อำนวย ชำนาญ” ครูนอกระบบผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก โครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เล่าถึงประสบการณ์เมื่อกว่า 30 ปีในอดีต ที่ยาเสพติดได้ทำลายชีวิตของตนเองลงอย่างย่อยยับ ถึงแม้ความรักจากคนในครอบครัวจะฉุดรั้งให้เขา “หักดิบ” หลุดออกมาจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ แต่ผลพวงของมันยังนำพาไปสู่บทสรุปของชีวิตที่ “โรงพยาบาลศรีธัญญา” “หลายปีในระหว่างพักรักษาตัวก็ได้อ่านหนังสือเพื่อทบทวนตัวเองมากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือธรรมมะของพระอาจารย์มั่นเรื่องมุตโตทัย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดได้ว่า การที่จะพิสูจน์ให้คนยอมรับว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ได้เป็นคนบ้าหลุดโลก เราจะต้องสอนตัวเอง ต้องฝึกตัวเองให้ได้ก่อนเราจึงจะสอนหรือบอกคนอื่นได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า10 ปี” ครูอำนวยกล่าว เนื่องเพราะเติบโตมาในวิถีของนักเลงที่มีความรักชุมชนพวกพ้องเป็นพื้นฐาน “ครูอำนวย” จึงได้ทำงานกับเด็กและเยาวชนครั้งแรกในปี 2540 เมื่อชุมชนบ้านเกิดถูกรุกรานจากนายทุนเข้ามาทำลายวิถีของชุมชน จึงได้ร่วมพลังกับชาวบ้านออกมาต่อต้าน โดยมีเยาวชนที่ถูกสังคมมองว่าเป็น “เด็กไม่ดี” เป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญ นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เชื่อมั่นว่า...ว่าไม่มีใครที่อยากจะเป็นคนไม่ดี “จริงๆ แล้วทุกคนอยากเป็นคนดี แต่สายตาของสังคมที่มองเขา เป็นการมองโดยที่ไม่เคยสัมผัสข้างในว่าเขาต้องการอะไร เป็นแบบนี้เพราะอะไร แต่โยนปัญหาทั้งหมดไปให้ว่าเขาเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่ไม่เคยนึกว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรมาจากใคร” ครูอำนวยเล่าถึงมุมมองของสังคมต่อเด็ก เพราะผ่านประสบการณ์ในด้านมืดมาอย่างโชกโชน จนทำให้เข้าถึงและเข้าใจในหัวใจตัวของเด็กและเยาวชนทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นอย่างดี จนระบุได้ว่าปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดมาจากระบบทุนนิยมได้เข้ามาครอบงำวิถีชุมชนผ่านการแก่งแย่งแข่งขันในด้านต่างๆ เพื่อนำผลลัพธ์ทางวัตถุที่ได้มาใช้เป็นเครื่องมือวัดคุณค่าของตนเอง วิถีครอบครัวในสังคมปัจจุบันจึงล่มสลาย “ครอบครัวที่ไม่มีโอกาสที่จะแก่งแย่ง ก็จะเกิดปัญหาขึ้น และจะเป็นตัวช่วยผลักให้เด็กออกมาจากครอบครัว พ่อที่ทำอะไรไม่ได้ก็หันเข้าหาเหล้า แม่หันเข้าหาการพนัน ลูกก็จะเคว้งคว้าง แต่ผมไม่ได้มองว่ามันมาจากระบบครอบครัวเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองว่ามาจากน้องๆ เขาไม่รักดี เดินออกมาจากครอบครัวเอง ผมไม่เชื่อ ผมศรัทธาในความเป็นคน และความเป็นมนุษย์ว่าทุกคนอยากดี” ครูอำนวยระบุ ทุกวันนี้ “ครูอำนวย” ได้ทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวนกว่า 30 คนจาก 2 ชุมชน โดยพร้อมที่จะเดินเข้าไปพูดคุยให้กำลังใจและเปิดโอกาสให้เด็กที่มีพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ บ้างก็ใช้การ “เมาดิบ” เข้าไปคุยกับกลุ่มเด็กที่กำลังเสพยา โดยอาศัยช่วงเวลาที่ “ยาอ่อน” กระตุ้นสอนให้เด็กได้คิดและกลับตัวมาเป็นคนดี โดยนำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ และมีเป้าหมายเล็กๆ ว่า “ผมไม่ได้มองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความก้าวร้าว การหยุดยาโดยเด็ดขาด แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือน้องมีงานทำ ผมศรัทธาประโยคหนึ่งว่า คนเราไม่เกเรไปจนแก่ตาย เพราะฉะนั้นถ้าเขายังมีชีวิตอยู่จนถึงแก่ได้ เขาหยุดพฤติกรรมแบบนี้ได้แน่นอน ขอเพียงสังคมให้โอกาสเขา มองเขาด้วยความเอื้ออารี แบ่งปันและกล้าที่จะเดินไปบอกเขาบ้าง ผมเชื่อว่าน้องเขารอการถูกสอนอยู่ด้วยซ้ำไป เพียงแต่เราคิดว่าไม่ควรจะสอนคนแบบนี้ต่างหากจึงทำให้เกิดปัญหา” ครูอำนวยกล่าว ดร.วัฒนา บรรเทิงสุข อดีตอาจารย์พยาบาล และตัวแทนภาคี 4 ฝ่ายในภาคของชุมชนเล่าให้ฟังว่ารู้จักและได้ทำงานร่วมกับครูอำนวยประมาณ 2 ปี มีบุคลิกเป็นคนที่นิ่ง ไม่บุ่มบ่าม แต่ฉลาด คำพูดที่่ใช้สอนเด็กมักเป็นคำพูดสั้นๆ เล็กๆ แต่โดนใจ ทำให้เด็กที่ตกอยู่ในหลุมดำฉุกคิดขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กมีความเชื่อถือในครูคือ ทำในสิ่งที่พูด และพูดในสิ่งที่ทำ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง “ครูอำนวยไม่เคยคิดว่าตัวเองมีอุปสรรค แต่สิ่งที่จะกังวลอยู่เสมอคือ กลัวสังคมไม่เปิดรับเด็ก แต่ครูก็ทำงานด้วยความอดทน ไม่เคยบ่น โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจอยู่เสมอ ทั้งลูกและภรรยาจะต้อนรับเด็กที่มาเรียนศิลปะที่บ้านอย่างไม่รังเกียจ” ดร.วัฒนาระบุ การทำงานในปัจจุบันนอกจากดูแลกลุ่มเด็กที่สังคมไม่ยอมรับ ยังร่วมกับองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำ “ค่ายการเรียนรู้” ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook ผ่านนามปากกา “ก่องแก้ว กวีวรรณ” ที่ใช้ผลิตงานวรรณกรรมเยาวชน เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่าย ประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็ก และเปิดบ้านเป็นที่ทำกิจกรรมศิลปะแขนงต่างๆ ในนามของ “กลุ่มงานเยาวชนวรรณศิลป์สายน้ำ” โดยมีแนวคิดที่จะนำศิลปะมาใช้ในการบำบัดดูแลเด็กที่มีปัญหา และพัฒนาไปสู่การสร้างอาชีพให้กับเยาวชน “ผมจะใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างผมกับตัวน้อง และระหว่างตัวน้องกับชุมชน ดังนั้นสิ่งแรกที่คิดไว้ก็คือ การสร้างกลุ่มอาชีพ เริ่มจากการที่ทำให้น้องรู้สึกผ่อนคลายจากการทำงานศิลปะก่อน เริ่มทำความเข้าใจกับน้องในเรื่องของอารมณ์ก่อน หลังจากนั้นเมื่อน้องปรับอารมณ์ตัวเองได้ และน้องมีชิ้นงาน มันก็จะนำไปสู่การมีอาชีพได้” “จริงๆ แล้วศิลปะมันทำให้จิตใจเราอ่อนลง ไม่ว่าคุณจะก้าวร้าวหรือแข็งกร้าวขนาดไหน ศิลปะมันทำให้เราอ่อนลงได้ เพราะฉะนั้นงานศิลปะมันมีวิธีที่จะต่อยอดความคิดของตัวน้องเอง โดยที่เราไม่ต้องสอน โดยที่เราไม่ต้องบอก โดยงานศิลปะมันจะเป็นผู้บอกน้องเอง” ครูอำนวยกล่าว ซึ่งแนวทางสำคัญที่จะสามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในสังคมปัจจุบันนั้น ครูอำนวยบอกว่าสิ่งที่สำคัญก็คือการให้ “โอกาส” โดยเริ่มจากสังคมต้องมองเด็กกลุ่มนี้อย่างลูกหลานและเข้าใจว่าเขาไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา “สิ่งที่ทำให้ผมเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ก็เพราะว่าผมได้รับโอกาสจากแม่ จากพ่อ จากคนที่หวังดี แต่เท่านี้ยังไม่พอกับการที่เราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่ความเป็นคนที่สังคมยอมเราเราได้ เราต้องให้โอกาสตัวเองด้วย ถามว่าการที่เราจะทำให้สังคมยอมรับและให้โอกาสเรานั้น เรารอไม่ได้ เราต้องเดินเข้าไปหาโอกาสนั้น ไปขอโอกาสจากเขาก่อน ไปขอโอกาสจากชุมชน ไปขอโอกาสจากสังคม โดยเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง อย่างผมพิสูจน์ตัวเอง 20 ปี แล้วสังคมก็จะให้โอกาส” ครูอำนวยสรุป.
แท็ก ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ