คณะอุตฯ ม.อ. ผลิตตู้อบแสงอาทิตย์และไม้ฟืน หนุนชาวบ้านแปรรูปอาหาร ลดปัญหาเน่าเสีย สร้างรายได้ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2012 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. ผลิตตู้อบพลังแสงอาทิตย์และไม้ฟืน ติดตั้งบนพื้นที่เกาะบุโหลนดอน และ เกาะบุโหลนเล จ.สตูล หนุนให้ชาวบ้านแปรรูปสัตว์ทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ตากแห้ง ลดปัญหาการเน่าเสียของสัตว์ทะเลสด พร้อมถ่ายทอดกระบวนการแปรรูปมะม่วงและมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าผลผลิตให้แก่ชาวบ้าน นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) หัวหน้าโครงการวิจัยผลิตตู้อบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะ บุโหลนดอนและเกาะบุโหลนเล จ.สตูล ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงหาเลี้ยงครอบครัว มักจะประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายสัตว์ทะเลไปยังผู้บริโภค เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลจากชายฝั่งถึง 20 กิโลเมตร ทำให้ชาวประมงเลือกวิธีการแช่แข็งสัตว์น้ำให้มีปริมาณมากพอที่จะคุ้มค่ากับต้นทุนขนส่ง ทำให้สัตว์น้ำที่จับมาเพื่อจำหน่ายบางส่วนเกิดการเน่าเสีย ส่งผลให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางผู้คณะวิจัย จึงผลิตตู้อบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งให้ความร้อน และออกแบบให้สามารถใช้ไม้ฟืนเป็นแหล่งให้ความร้อนในขณะที่ไม่มีแสงแดด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อมอบให้แก่ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือแปรรูปอาหารทะเลด้วยวิธีการทำแห้งด้วยตู้อบ เช่น ปลาตากแห้ง กุ้งแห้ง หมึกตากแห้ง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานโดยไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ช่วยลดปริมาณน้ำหนักการขนส่ง และลดต้นทุนเก็บรักษา อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีก “การแปรรูปอาหารทะเลด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ชาวบ้านนำมาใช้แปรรูปอาหารทะเลให้สามารถเก็บรักษาสัตว์น้ำได้ยาวนานขึ้น หรือแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ในรูปแบบสินค้าโอท็อป ก็เพื่อช่วยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิรักษ์ กล่าว นอกจากนี้ คณะผู้วิจัย ยังให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีในการแปรรูปอาหาร ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) รวมถึงถ่ายทอดวิธีการแปรรูปมะม่วงและมันสำปะหลัง ได้แก่ การทำมะม่วงกวน มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม และมันสำปะหลังทอดกรอบ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้นิยมปลูกกันมากบนพื้นที่เกาะบุโหลน เพื่อส่งเสริมอาชีพและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกาะบุโหลน ในช่วงที่ไม่สามารถออกไปทำประมงในช่วงฤดูมรสุมอีกด้วย เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) ต้องการข้อมูลโทร. 02-248-7967-8 ต่อ 127 Email : kongwong91@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ