เปิดตัวการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2012 สุดยิ่งใหญ่ เยาวชนจากทั่วเอเชีย เข้าร่วมชิงชัยเพื่อเฟ้นหาสุดยอดรถประหยัดพลังงานแห่งอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 6, 2012 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--เวิรฟ การแข่งขันเชลล์ อีโค-มารราธอน เอเชีย 2012 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดรถประหยัดพลังงานแห่งเอเชียได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยมีทีมเยาวชนจากทั่วภูมิภาคร่วมแข่งขันประดิษฐ์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่ใช้เชื้อเพลิงได้อย่างคุ้มค่าและประหยัดพลังงานสูงสุด การแข่งขันในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก มร.ไซมอน เฮนรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของกลุ่มบริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน โดยหลังจากได้ชมยานยนต์ประหยัดพลังงานของทีมเยาวชนจากทั่วเอเชียแล้ว มร.ไซมอนกล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นยานยนต์ซึ่งเยาวชนทุกทีมได้พยายามและทุ่มเทออกแบบและประดิษฐ์ขึ้น ผมเชื่อว่าไหวพริบและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนนักประดิษฐ์เหล่านี้ จะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ในอนาคต” ในการแข่งขันครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากดาโต๊ะ ศรี อิดริส จาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยงานดูแลและกำกับการดำเนินงานของรัฐบาลมาเลเซีย (PEMANDU) พร้อมทั้งแขกผู้มีเกียรติมาร่วมชมนวัตกรรมยานยนต์ในสนามแข่งขันด้วย อาทิ ทูตจากหลากหลายประเทศ และผู้ถือหุ้นของเชลล์ รวมทั้งผู้นำทางธุรกิจของมาเลเซียและจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เชลล์ อีโค-มารราธอน เป็นการแข่งขันที่เชลล์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ออกแบบ ประดิษฐ์ และทดสอบยานยนต์ที่สามารถวิ่งได้ไกลที่สุดโดยใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด ทั้งนี้การแข่งขันดังกล่าวได้จัดขึ้นในทวีปอเมริกาและยุโรปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับการแข่งขันในทวีปเอเชียในปีนี้ มีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 119 ทีมจาก 18 ประเทศทั่วภูมิภาค ซึ่งจะนำยานยนต์ประหยัดพลังงานมาวิ่งทดสอบและแข่งขันกัน ณ สนามแข่งรถนานาชาติเซปัง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีจำนวนเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันรวมทั้งผู้เข้าชมงานมากกว่า 1,500 คน ในการแข่งขัน 2 ปีที่ผ่านมา ทีมเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์ในรุ่นรถต้นแบบได้ทั้ง 2 ครั้ง โดยในปี 2010 ทีม ATE 1 จากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ประดิษฐ์รถที่วิ่งได้ระยะทาง 1,521.9 กิโลเมตร ส่วนในปี 2011 รถของทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ชนะการแข่งขันด้วยระยะทางถึง 2,213.4 กิโลเมตร โดยใช้เชื้อเพลิงเทียบเท่ากับน้ำมันเพียง 1 ลิตร ซึ่งเท่ากับระยะทางจากเชียงใหม่ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์เลยทีเดียว จึงนับเป็นสถิติที่น่าประทับใจอย่างมาก ทั้งนี้การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รถต้นแบบ หรือ Prototype มุ่งเน้นให้เยาวชนออกแบบยานยนต์ต้นแบบแห่งอนาคต ทำให้รถมีรูปทรงเพรียวลมและเน้นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเปิดกว้างให้ใส่นวัตกรรมได้ในทุกๆ องค์ประกอบของยานยนต์ ส่วนอีกประเภทคือ รถที่มีแนวคิดเพื่อการใช้งานจริง หรือ Urban Concept ซึ่งมุ่งเน้นการออกแบบยานยนต์ประหยัดพลังงานที่ใกล้เคียงกับรถทั่วไปบนท้องถนน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในชีวิตจริง จึงมีรูปทรงคล้ายกับรถยนต์ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป สำหรับในปีนี้มีรถที่เข้าแข่งขันในประเภทรถต้นแบบจำนวน 81 คัน และรถเพื่อการใช้งานจริง 38 คัน จากทั่วทั้งเอเชีย โดยในการแข่งขันระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคมนี้ เยาวชนทุกทีมจะนำรถออกวิ่งทดสอบในสนามแข่งภายใต้การดูแลของคณะกรรมการ จากนั้นจึงนำมาวิ่งจริงเพื่อทำสถิติที่ดีที่สุด โดยจะมีพิธีประกาศผลผู้ชนะในช่วงเย็นของวันที่ 7 กรกฎาคม สำหรับประเทศไทยมีทีมเยาวชนลงแข่งขันทั้งสิ้น 12 ทีม จาก 9 สถาบัน ได้แก่ 1. ทีม Junior bricolage โรงเรียน โพธินิมิตรวิทยาคม 2. ทีม ATE.1 โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมถ์ ช่างกล ขสทบ. 3. ทีม Anode วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง 4. ทีม Catode วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง 5. ทีม Auto MAX วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง 6. ทีม Auto MAX II วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง 7. ทีม Virgin วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร 8. ทีมเขลางนคร LPRU A+ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 9. ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต 10. ทีม Innogen KMIT’L V.1 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 11. ทีม Innogen KMIT’L V.2 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 12. ทีม KU RACING มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีม ATE 1 จากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ และทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ซึ่งเคยคว้าแชมป์ประเภทรถต้นแบบในปีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ได้ลงแข่งขันในปีนี้ด้วยเช่นกัน หลังพิธีเปิดการแข่งขัน มร.ไซมอน เฮนรี ได้เปิดการเสวนาในหัวข้อ Future Energy, Smarter Mobility Forum (พลังงานแห่งอนาคตเพื่อการขับเคลื่อนที่เหนือกว่า) ซึ่งมีผู้นำด้านนโยบายกว่า 150 คน และผู้ถือหุ้นของเชลล์จากทั่วทั้งภูมิภาค เข้าร่วมการเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านพลังงานในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวมุ่งผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่อง smarter mobility, sustainable transportation (การขนส่งอย่างยั่งยืน) และการวางผังเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย การเสวนาดังกล่าวยังจัดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน ของเหล่าเยาวชน เพื่อย้ำถึงแนวโน้มการเติบโตของการเดินทางภายในเมืองได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และกระตุ้นให้ผู้นำในปัจจุบันได้ตระหนักถึงความต้องการพลังงานอย่างยั่งยืนและการคิดค้นพลังงานทางเลือก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานในอนาคต การเสวนาเริ่มต้นโดยดาโต๊ะ ศรี จาลา อิดริส เป็นผู้กล่าวเปิด จากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ อาทิ อัสฟาซาม คัสบานี ผู้ช่วยตัวแทนภาคผู้อยู่อาศัย (ด้านสิ่งแวดล้อม และการรวมกลุ่มพลังงาน) ในโปรแกรมการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ประเทศมาเลเซีย, เอ็ดเวิร์ด เคลย์ตัน ผู้อำนวยการของ บริษัท บูซ แอนด์ คัมปะนี (มาเลเซีย) จำกัด, มาร์ค เกนส์เบอเรอ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายGlobal Commercialของเชลล์, เคิร์สเตน โคโรเซค บรรณาธิการด้านพลังงานอัจฉริยะ และ เทอรี่ แม็คอลิสเตอร์ บรรณาธิการด้านพลังงาน ของเว็บไซต์ข่าว Guardian.co.uk “เชลล์ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเชื้อเพลิงเพื่อการขับเคลื่อนที่เหนือกว่า นับตั้งแต่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากพลังงานสะอาดอย่างก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ แต่ต้องมีการลงทุนทั้งเวลาและงบประมาณในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร จากทั้งภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ และภาครัฐซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์พลังงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น” มร.ไซมอน กล่าว ในการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน นอกจากจะมอบรางวัลให้กับรถที่ประหยัดเชื้อเพลิงที่สุดแล้ว ยังมีรางวัลอื่นๆ อีก 4 รางวัล ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์, ความปลอดภัย, การออกแบบที่ดี, การตลาด (การนำไปใช้งานจริง) และ 3 รางวัลที่เพิ่มขึ้นเป็นปีแรก ได้แก่ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ความสามัคคีของทีม, และความพยายามในการแก้ไขปัญหา สำหรับผู้สนใจ สามารถเข้าชมการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2012 ได้ในวันที่ 6 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 14.00-19.00 น. และวันที่ 7 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. ณ สนามแข่งรถนานาชาติเซปัง โดยเข้าทางประตู Paddock Club และชมการแข่งขันได้จากอัฒจันทร์ Paddock Club (PC) 1 ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน 2012 ทั่วโลก ทั้งกฎกติกา การเข้าร่วมแข่งขัน และเงินรางวัล สามารถเข้าชมได้ที่ www.shell.com/ecomarathon เกี่ยวกับ เชลล์ อีโค-มาราธอน เชลล์ อีโค-มาราธอน มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2482 ณ แผนกการวิจัยของเชลล์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกิดจากการเดิมพันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ 2 คนว่ารถของใครจะวิ่งไปได้ไกลที่สุดโดยใช้น้ำมันเพียง 1 แกลลอน ซึ่งรถของผู้ชนะในครั้งนั้นสามารถวิ่งได้ไกล 50 ไมล์ (เทียบเท่ากับ 21 กิโลเมตรต่อลิตร) และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นั้น ได้นำไปสู่การแข่งขันรถประหยัดพลังงานในฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2528 ซึ่งกลายมาเป็นการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนในรูปแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยเชลล์ อีโค-มาราธอน อเมริกา เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2550 และเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2553 ที่ประเทศมาเลเซีย โดยการแข่งขันในทวีปเอเชียจะจัดที่ประเทศมาเลเซียจนถึงปี พ.ศ.2556 จากนั้นจะย้ายไปจัดที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างปี พ.ศ.2557-2559

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ