ภาพสีอะคริลิก “พรุ่งนี้” คว้า 1 ล้าน จากโครงการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก” ในหัวข้อ “พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย”

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2012 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ไทยเบฟเวอเรจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 1” และพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ภายหลังจากที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก” ภายใต้หัวข้อ “พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย” ชิงเงินรางวัล มูลค่า2,400,000 บาท ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เหล่าศิลปินเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้างและได้แสดงออกถึงศักยภาพทางศิลปะในรูปแบบเชิงเหมือนจริง และเชิงสัญลักษณ์ โดยดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงศิลปะ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษาในปี พ.ศ. 2554 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอุทิศพระองค์ ประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานาประการเพื่อโยชน์สุขแห่งประชาชนชาวไทยมาตลอดรัชสมัย จึงได้ถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้ จัดกิจกรรมการประกวดผลงาน “ศิลปกรรมช้างเผือก” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดหัวข้อในการประกวดครั้งนี้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย” โดยโครงการดังกล่าวจะเปิดรับผลงานศิลปะในแนวทางเหมือนจริง ด้วยผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เพื่อเป็นเวทีแห่งการสร้างสรรค์ และสนับสนุนการสร้างผลงานของเยาวชนรุ่นใหม่ให้ไปสู่ระดับนานาชาติในอนาคต ซึ่งทางไทยเบฟ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการเฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในแบบเชิงเหมือนจริง (Realistic) รวมไปถึงในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ (Figurative Art) ซึ่งเน้นความเป็นรูปธรรมของต้นแบบที่ศิลปินถ่ายทอดลงมาสู่ผลงานของตนเอง ซึ่งนับเป็นการประกวดศิลปกรรมเฉพาะแนวทางนี้เป็นเวทีแรกที่ได้มีการจัดขึ้นในประเทศไทย “ในการประกวดครั้งนี้ มีผู้ที่สนใจร่วมส่งภาพเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 200 กว่าชิ้น ผลงานที่ส่งเข้ามาไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงมุมมองที่งดงามของศิลปินแต่ละท่านที่บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยที่เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานาประการ ผ่านผลงานที่สร้างสรรค์งานในแนวเหมือนจริงและศิลปะรูปลักษณ์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์สูง อีกทั้งยังสามารถสื่อสารเรื่องราวที่อยู่ในใจของศิลปินให้ผู้ที่ชมผลงานได้อย่างตรงไปตรงมา นับแต่นี้เป็นต้นไป การประกวดศิลปกรรมช้างเผือกนี้ จะเป็นกิจกรรมที่จะจัดขึ้นทุกๆ ปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเป็นเวทีให้ศิลปินผู้รักงานศิลปะในแนวทางนี้ ได้แสดงออกถึงความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่อันจะเป็นบันไดที่สร้างเสริมชื่อเสียงและความสำเร็จตามความปรารถนาของแต่ละคนสืบไป” นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าวต่อ ด้าน ผศ. ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงงาน Realistic และ Figurative Art ว่า เป็นงานที่ใช้ทักษะในการสร้างสรรค์สูงมาก ศิลปินที่สร้างสรรค์ในแนวทางนี้ต้องเชี่ยวชาญ และอาศัยการฝึกฝนเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ศิลปินในแนวทางนี้ จึงเป็นอีกรูปแบบของงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าต่อวงการศิลปะ ทั้งในเมืองไทยและระดับนานาชาติ โดยผู้พิชิตรางวัลช้างเผือก พร้อมเงินสด 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ไปครอง คือ นายชัยรัตน์ แสงทอง ชื่อผลงาน “พรุ่งนี้” นอกจากนี้ รางวัลชนะเลิศพร้อมเงินสด 300,000 บาท ได้แก่ นายนันทพงศ์ สินสวัสดิ์ ชื่อผลงาน “พระผู้เป็นแรงใจ” รางวัลรองชนะเลิศจำนวน 5 รางวัล พร้อมเงินสดรางวัลละ 100,000 บาท และรางวัลชมเชยจำนวน 12 รางวัล พร้อมเงินสดรางวัลละ 50,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้นมูลค่า 2,400,000 บาท สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก” โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน — 29 กรกฎาคม 2555 เปิดเข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.30-21.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน บทสัมภาษณ์ศิลปินรางวัล รางวัลช้างเผือก นายชัยรัตน์ แสงทอง รางวัลช้างเผือก เจ้าของผลงานชื่อ “พรุ่งนี้” กล่าวว่า ตนได้รับแรงบันดาลใจและแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากการนำความรู้สึกของตนเองที่มีต่อความดีงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นเนื้อหาในการสร้างสรรค์ผลงาน ลักษณะการสะท้อนให้เห็นจิตใต้สำนึกของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในเขตชนบทและเยาวชนไทยซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับอนาคตของชาติบ้านเมือง ตนนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เห็นเพียงเลือนลางจากธนบัตรในกระเป๋าเสื้อให้เป็นประตูเปิดที่สำคัญแก่ความคิดและความรู้สึกของคนดูที่มีต่อผลงานเบื้องหลัง ประตูดังกล่าว คือ ประสบการณ์ของคนดูแต่ละคนที่จะคิดไปได้ต่างๆ นานา อาจรู้สึกถึงความผูกพัน คุณค่าของชีวิต บทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่มีผลต่อจิตสำนึกคนไทย อดีตของตัวเอง หรือ คุณงามความดี เป็นต้น ดังนั้น ทุกความรู้สึกเป็นเรื่องที่ดีงามก่อเกิดขึ้นในจิตใจของคนดู และเชื่อว่าจิตใจที่ดีงามนี้ จะเป็นสิ่งสะท้อนกลับจากความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ “ภายในผลงานได้คิดทั้งเรื่องราวเนื้อหาและการจัดวางองค์ประกอบศิลปะด้วยความตั้งใจอย่างระมัดระวังที่สุด ด้านเรื่องราวใช้รูปทรงของผู้สูงอายุและเชื่อมต่อเรื่องราวของหลาน โดยไม่แสดงรูปทรงหลานให้ปรากฎในภาพและเรื่องราวจะแสดงความเป็นปัจจุบันหรือในขณะนั้นแต่ความรู้สึกของคนดู ให้มองไปถึงอนาคตคือ คิดต่อเนื่องจากภาพที่เห็น ผลงานจึงมีชื่อว่า “พรุ่งนี้” และจุดเด่นที่เป็นรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดแต่ตั้งใจให้มีขนาดเล็กและเลือนลางมองเห็นไม่ชัดเจนต้องใช้การพิจารณาดู เป็นการกลับค่าของการวางจุดเด่นตามหลักทฤษฎีทั่วไปทำให้รู้สึกถึงการอยู่เบื้องหลังหรือเป็นเหตุผลสำคัญของความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในผลงาน ผมนำเรื่องราวในชีวิตประจำวันปกติที่พบเห็นทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งเชื่อว่าความเป็นสามัญปกตินั้นบางครั้งหากเรามองเห็นแง่มุมแล้วนำมาคิดวิเคราะห์อาจจะเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งสำหรับเราดั่งผลงานคุณยายนั่งซักผ้าของหลาน แล้วบังเอิญมองเห็นธนบัตรที่เหลือเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อนักเรียนอาจเป็นคำตอบทั้งชีวิตของยายที่มีต่อหลาน ซึ่งสามารถเห็นทิศทางที่งดงามของหลานในอนาคต” “สำหรับเทคนิคที่ผมใช้ในการเขียนภาพโดยใช้สีอะคริลิกบนผ้าใบ สร้างน้ำหนักทับซ้อนจนเกิดรูปทรงแต่ต้องอาศัยความถูกต้องในลักษณะเหมือนจริง โดยใช้แบบจากคนจริงมาจัดวางตลอดจนความประณีตในการสร้างรายละเอียดให้ดูสมจริง การที่ผมได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเวทีที่มีผู้ร่วมส่งประกวดจำนวนมากและถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดเวทีหนึ่งระดับชาติ” “ท้ายสุดนี้ ตนขอขอบคุณบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นส่วนในการสนับสนุนวงการศิลปะของไทยให้เจริญ มองเห็นความสำคัญของศิลปิน และเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั่วไปอีกทั้งเป็นการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เชื่อมต่อกับสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และขอขอบคุณหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดลที่มีส่วนในการสร้างโอกาสและความเคลื่อนไหวให้กับวงการศิลปะเพื่อนำไปสู่มิติใหม่ๆ ตลอดจนคณะกรรมการตัดสินที่มองเห็นคุณค่า ความคิด ความรู้สึก ในผลงานของตนและและหวังว่าคงมีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป” ศิลปินรางวัลช้างเผือก กล่าวปิดท้าย รางวัลชนะเลิศจำนวน 1 รางวัล นายนันทพงศ์ สินสวัสดิ์ รางวัลชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “พระผู้เป็นแรงใจ” กล่าวว่า ภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาสังคมในปัจจุบันที่ประชาชนทุกคนเป็นกำลังในพัฒนาประเทศชาติมุ่งเน้นการพัฒนาความจริงในด้านอาชีพเพื่อกอบโกยเงินทอง โดยละเลยการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้เสียสละต่อส่วนรวม ปัญหาของสังคมในทุกวันนี้จึงมีจุดเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้แทบทั้งสิ้น โดยจะเป็นปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น ที่เริ่มจากสังคมในครอบครัวจนเป็นปัญหาของสังคมในประเทศ มีตัวอย่างในการเสียสละเพื่อส่วนรวมน้อยมากประเทศไทยจึงดูเป็นประเทศที่พัฒนาช้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ปวงชนเห็นตลอด 60 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ การเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ดีมีความสุข ดูจะเป็นภาพที่สร้างให้เกิดพระบารมีอันมากล้นที่บังเกิดแก่พระองค์ด้วย ทุกคนรับรู้และซาบซึ้งใจเป็นเสมือนยอดมนุษย์ประจำใจเป็นแบบอย่างของคนดีของสังคม พระราชดำรัสอันสูงค่าที่พระองค์ได้สอนประชาชนให้เกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต ตลอดจนพระราชกรณียกิจที่แสดงให้เห็นถึงความพากเพียรและความเสียสละ ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนในการดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทเพื่อความเจริญแก่ตัวบุคคลและประเทศชาติ “สำหรับภาพนี้ ผมใช้สีอะคริลิคที่เหมาะสมกับการแสดงรายละเอียดให้เกิดความคมชัด เพื่อถ่ายทอดรูปแบบที่เหมือนธรรมชาติให้เกิดความสมจริง ด้วยเทคนิคการดีดละอองสีและวาดเส้นบนพื้นระนาบของผ้าใบ นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกว่ารางวัลชนะเลิศก็เป็นความรู้สึกที่ชี้ชัดให้เห็นผลถึงความเพียร ไม่ว่าจะเป็นความเพียรในด้านความคิดหรือการทำเป็นผลจากการที่เรายึดพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงใจของชีวิต ทำให้เห็นว่าเราเดินมาถูกทาง และยังดีใจที่ชนะตัวเองจากความเพียรพยายามอีกด้วย สำหรับโครงการศิลปกรรมช้างเผือกนั้น ถือเป็นเวทีศิลปะที่สนับสนุนให้เกิดการแสดงให้เห็นศิลปะในยุคปัจจุบันในลักษณะภาพรวมของศิลปกรรมที่หลากหลายรูปแบบในการแสดงออกของศิลปินในหลายสาขา ซึ่งเปิดโอกาสให้ศิลปินก้าวพัฒนาต่อไปในทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือภาพพิมพ์ ขอขอบคุณไทยเบฟเวอเรจที่เปิดเวทีอันมีค่าให้กับวงการศิลปะ เพื่อผลักดันผลงานให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป” นายนันทพงศ์ สินสวัสดิ์ กล่าวต่อ รางวัลรองชนะเลิศจำนวน 5 รางวัล นายจอมพล พัวทวี รางวัลรองชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “จงรักภักดี หมายเลข 1” เปิดเผยว่า แนวคิดของภาพพิมพ์นี้คือ ตนไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องพระราชกรณียกิจของในหลวงมากนัก แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของความรู้สึกของชนชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ คือ ความจงรักภักดี ความรัก และการเทิดทูนที่อยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยทุกคน โดยตนใช้เทคนิคสีอะคริลิคในการวาดภาพชิ้นนี้ เพราะใช้งานสะดวก ซึ่งแทรกเทคนิคการขังสีด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ใยมะพร้าว ผ้าก๊อต ถุงพลาสติก และผ้าใยสังเคราะห์ต่างๆ ให้เกิดลวดลาย ให้ภาพมีความงามในแบบเฉพาะตัวอีกด้วย ตนได้แรงบันดาลใจมาจากความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทยที่ไม่ได้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ซึ่งความจงรักภักดีนี้กลับได้หลอมรวมหัวใจของคนไทยทุกคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจและยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งต่อไป เมื่อมีเวทีการประกวดนี้ ทำให้ผมได้รับโอกาสที่ดี ได้แสดงศักยภาพในแนวทางเหมือนจริงที่ผมถนัด เพื่อสะท้อนถึงความรักของคนไทยที่มีต่อในหลวงในรูปแบบของผมเองผ่านผืนผ้าใบ ทำให้ผู้ชมผลงานได้รับรู้ ได้เห็น และได้รู้สึกร่วมไปกับผมและศิลปินท่านอื่นๆ ที่ต่างได้ถ่ายทอดออกมาจากหัวใจเดียวกัน นั่นคือ ความรัก ความเทิดทูนในพระมหากษัตริย์ ตามแนวคิดโครงการคือ “พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย” อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณไทยเบฟที่สนับสนุนโครงการที่ดี ให้โอกาสแก่ศิลปิน และตนขอขอบคุณ อาร์เดล ที่เป็นแรงผลักดันให้ความช่วยเหลือและประสานงานในการประกวดครั้งนี้” นายเทอดศักดิ์ พลซา รางวัลรองชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “ผลบุญทั้งปวง ขอน้อมถวายพระองค์” เปิดเผยว่า ตนได้หยิบยกเรื่องการทำบุญและการทำดีต่างๆ ในวันสำคัญต่างๆ ถือเป็นประเพณีไทยที่สืบทอดต่อกันมาเล่าผ่านภาพ เพราะตนคิดว่าการทำบุญจะไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือแม้กระทั่งคนจนที่อยู่ในชนบทก็ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเช่นกัน ซึ่งการทำบุญทุกครั้งต้องมีการขอพร ตนเชื่อว่าคนไทยจะขอพรให้ตนเองและครอบครัว และที่สำคัญคือ ขอพรให้ในหลวงทรงหายจากการอาการประชวร และให้พระองค์ท่านทรงพระเจริญ เพราะพระองค์เปรียบเสมือนดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ “สำหรับการวาดภาพนี้ ผมใช้เทคนิคสีอะคริลิคบนผืนผ้าใบ เพราะถนัดที่สุด โดยใช้เวลาวาดภาพชิ้นนี้ 2 เดือน นอกจากนี้ สาเหตุที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมส่งผลงานเข้าประกวดคือ ผมอยากทำงานถวายให้ในหลวง จึงตัดสินใจทำงานส่งในการประกวดครั้งนี้ เพราะผมอยากมีส่วนร่วมในการถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านผ่านผลงานตามที่ตนเองถนัด” นายเทอดศักดิ์ พลซา กล่าวเสริม นายไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ รางวัลรองชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “เดินตามรอยพ่อ พอเพียง พ.ศ. 2555” กล่าวว่า แนวความคิดของภาพนี้คือ การนำเสนอมุมมองของความสามัคคีในสังคมไทย การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่นับวันอาจจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในภาพนี้อยากสะท้อนแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งพระราชกรณียกิจนานับประการของในหลวงนั้นทำให้ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของภาพ “เดินตามรอยพ่อ พอเพียง พ.ศ.2555” ด้านเทคนิคการวาดคือ สีอะคริลิคบนผ้าใบที่มีขนาดผลงาน 195 x 235 ซม. เหตุผลที่เลือกใช้สีอะคริลิค เพราะตนมีความถนัดเป็นพิเศษที่สำคัญไม่มีกลิ่น สามารถวาดในห้องส่วนตัวได้ โดยตนมีแรงบันดาลใจในการวาดชิ้นงาน เพื่ออยากให้คนในสังคมไทยเกิดความสามัคคี โดยน้อมนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติในชีวิตจริง จึงเปรียบเทียบภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในหลวงของเราที่ทรงเกี่ยวข้าวเป็นจุดเด่นของภาพ รอบด้านนั้นเป็นภาพราษฎรไทยกลุ่มหนึ่งที่กำลังประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำรัสแบบพอเพียง “สำหรับการได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านความประทับใจในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวง รางวัลเป็นสิ่งสร้างเสริมพลังใจเพื่อให้ตัวเองได้ทำงานศิลปะที่มีคุณค่าต่อไป โดยโครงการนี้นับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ทำงานศิลปะหลายระดับได้มีโอกาสถ่ายทอดผลงานในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมสู่เวทีการประกวดศิลปกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวในวงการนี้เป็นอย่างดี ถือเป็นการส่งเสริมคุณภาพให้แก่ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานในโอกาสต่อไป” นายวัชระ กล้าค้าขาย รางวัลรองชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “วิถีชนบท วิถีไทย ใจพอเพียง” กล่าวว่า แนวคิดของภาพคือ ความรักความอบอุ่นของครอบครัวในชนบทซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจในวิถีของตัวเอง ต่อจากนั้นเราจะรู้ว่าเราควรจะใช้จ่ายและอดออมอย่างไร อันนี้คือข้อหนึ่งของความหมายคำว่า”พอเพียง” สำหรับแรงบันดาลใจในการวาดผลงานชิ้นนี้ตนต้องการสะท้อนความทรงจำในวัยเด็กของตนเองที่มีแม่คอยทะนุถนอมเลี้ยงดูด้วยความรักแม่สอนให้ขยันและอดทนสอนให้รู้จักการเก็บหอมรอมริบและรู้จักการแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตนเองตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้ในสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งตนเพิ่งจะได้รับรู้ในตอนโตนี้เองว่าคำที่แม่พร่ำสอนมาตลอดนั่นแม่ก็ฟังมาจากพระราชดำรัสของในหลวงนั่นเอง “ผมใช้เทคนิคสีน้ำมันในการวาดภาพเพราะมีความชอบและถนัดเป็นพิเศษ มีความรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่รับรางวัลนี้ และยังดีใจแทนศิลปินที่รักงานเรียลริสติกส์ในยุคนี้จะได้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาบุคคลภายนอกผ่านเวทีการประกวดอันทรงเกียรตินี้” นางสาวอัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ รางวัลรองชนะเลิศ เจ้าของผลงาน “คำสอนของพ่อ” กล่าวว่า ภาพนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกและความรักที่มีต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวที่มีต่อในหลวง ตั้งแต่เล็กจนโตภาพที่เราเห็นจนคุ้นเคยคือ ภาพที่ในหลวงท่านทรงงานหนักเพื่อลูกตลอดเวลา เราจึงอยากวาดรูปที่เราทำงานให้พ่อและแม่บ้าง และเลือกอาชีพที่ใช้แรงงานหนักและเป็นอาชีพที่เราเคยเห็นอยู่บ่อยครั้ง ตนอยากจะสื่อว่า ไม่ว่าลูกทุกคนจะประกอบอาชีพอะไร แต่ลูกทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ขยันอดทน และรับผิดชอบต่องานที่ทำแล้ว สังคมไทยก็จะสงบสุข พ่อที่เคยทำงานหนักมาเพื่อเรา จะได้พักผ่อนบ้าง อยากจะให้ทุกคนแบ่งเบาภาระจากพ่อ “จากชื่อผลงานนั้น ตนคิดว่าการทำตามคำสอนของพ่อไม่ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเราด้วย ในฐานะที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ คำสอนของพ่อที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การขยันอดทน หากจะทำอะไรอย่าทำแค่ผ่านๆ ไป แต่ต้องทำให้ดีที่สุดด้วย สำหรับการส่งผลงานเข้าประกวด ตอนแรกก็ไม่กล้าส่งผลงาน เพราะวาดหน้าตัวเอง แต่ความรู้สึกข้างในคือ เรารักในหลวงอยู่แล้ว แต่เราอยากถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อในหลวงผ่านตัวเราเอง จึงเขียนภาพตัวเองที่มีความรู้สึกจงรักภักดีต่อในหลวง ท้ายสุดนี้อยากฝากให้คนไทยรักพ่อมากๆ ทั้งพ่อผู้มีพระคุณ และพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยค่ะ” นางสาวอัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ กล่าวเสริม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ