“คณะทำงานการกีฬา และนันทนาการ สภาที่ปรึกษาฯ เร่งสร้างศักยภาพการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ก้าวสู่มาตรฐานสากล ”

ข่าวทั่วไป Wednesday July 11, 2012 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการกีฬา และนันทนาการ จัดการสัมมนา เรื่อง “ กีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ….สังคมไทยได้อะไร” เปิดการสัมมนาโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกล่าวรายงานโดยนายธนา ไชยประสิทธิ์ ประธานคณะทำงานการกีฬาและนันทนาการ ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 150 คน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น นายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เสนอความเป็นมาของกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การพัฒนาสิทธิประโยชน์ของนักกีฬา ซึ่งขณะนี้มีการเร่งพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างการแข่งขันกีฬาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพได้ตามมาตรฐานสากล การสร้าง “ KM ” (Knowledge managment) คือ การสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักกีฬา และองค์กรที่เกี่ยวกับกีฬา เพื่อใช้ในการคัดสรรนักกีฬาที่ได้คุณภาพ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม การจัดกีฬาแห่งชาติแม้จะเป็นการนำงบประมาณของชาติมาใช้เพื่อสร้างการกีฬาให้มีการพัฒนามากขึ้น แต่ควรมีการจัดการบริหารงบประมาณที่คุ้มค่ากว่าในปัจจุบัน ดร.เกษม นครเขตต์ นักวิชาการอิสระ สาขาพลศึกษา กีฬา และการส่งเสริมสุขภาพ กล่าวถึง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจังหวัดเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ และแนวทางการพัฒนาการกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ในแต่ละจังหวัดต้องการแสดงศักยภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา เนื่องจากเป็นการทำงานที่สร้างการเรียนรู้และส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่นไปด้วย ทั้งยังเป็นเส้นทางการพัฒนากีฬาระดับท้องถิ่นไปยังระดับประเทศ และต้องการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้เยาวชนตั้งแต่ในระดับชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงแก่จังหวัดตนเอง เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมข้ามกระทรวงเชิงบูรณาการได้ในเวทีการกีฬาเพื่อพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเอง การจัดการแข่งขันกีฬาเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในจังหวัด ธุรกิจการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจโตขึ้นทุกสาขา และได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริมกีฬา คือ มาตรการทางภาษี ลดหย่อนภาษีให้กับองค์กรเอกชนที่สนับสนุนกิจการด้านกีฬา ซึ่งจะทำให้การกีฬาได้รับการสนับสนุนในระยะยาว นายสกล วรรณพงษ์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กลยุทธ์ในการสร้างนักกีฬาที่มีคุณภาพ รูปแบบการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาแห่งชาติ การคัดเลือกนักกีฬาตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ กกท.สร้างโครงการคัดเลือกช้างเผือก เพื่อค้นหานักกีฬาใหม่ๆที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างนักกีฬาระดับชาติต่อไปได้ และในระหว่างที่หาความเป็นเลิศทางกีฬา เราต้องเพิ่มความมีคุณธรรม การสร้างคุณค่าให้แก่เยาวชน และความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ จังหวัดเจ้าภาพต้องมีอุปกรณ์การกีฬา สนามแข่งขัน การคมนาคม การประชาสัมพันธ์ และต้องสนับสนุนการกระจายการเป็นเจ้าภาพในทุกๆจังหวัด นายสมพงษ์ ชาตะวิถี อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กล่าวว่า สังคมไทยจะได้อะไรบ้างจากการจัดการแข่งขันกีฬา เริ่มต้นจากประเทศได้รับการกระจายอำนาจ การร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนเพื่อมุ่งหมายแก่การผสมผสานอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความปรองดองด้วยการแข่งขันกีฬา สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพทั้งด้านกีฬาและสร้างความโดดเด่นให้แก่ตนเอง การจัดการกีฬาเป็นเวทีปฏิบัติการทางการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานของกฎ ระเบียบ กติกา การตัดสินบนความยุติธรรม การสร้างคุณธรรม คุณค่าในชีวิตและเป็นการสร้างโอกาสทางเลือก สร้างประสบการณ์ชีวิตให้แก่เยาวชนไทย กีฬาเป็น ”อารยทางการกีฬา” คือ กีฬาเป็นสิ่งสร้างความเจริญงอกงามในหลายๆด้าน ทั้งผู้แข่งขัน ผู้เข้าร่วม บรรยากาศในการแข่งขัน เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสันติภาพ แผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ จะช่วยให้ระบบการบริหารในด้านกีฬาทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันพัฒนาโดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศการค้าและการพัฒนา กล่าวถึง การแข่งขันกีฬาเป็นมากกว่าเกมส์ เป็นวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน ไม่ได้มีเพื่อค้นหาความเป็นเลิศทางร่างกายเท่านั้น กฎหมายระหว่างประเทศให้การยอมรับว่าการแข่งขันกีฬาเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางกระแสทุนภายในประเทศและระดับอาเซียน จริยธรรมของกีฬาในทุกวันนี้ถูกกัดกร่อน โดยการกีดกันจากผู้มีอำนาจ ที่มุ่งเพียงแต่เป้าหมาย สร้างโอกาสทางการเมืองให้แก่ตนเอง เป็นเครื่องมือทางสังคมแข่งขันทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดที่หวังเพียงแต่ผลประโยชน์ แต่ไม่ได้ใช้กีฬารักษาวัฒนธรรมที่ดีเดิมๆไว้ คงไว้แต่กฎกติกาการเล่นเท่านั้น ต่อมาในภาคบ่ายเป็นการอภิปรายกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มที่ 2 ด้านสังคม และกลุ่มที่ 3 ด้านวัฒนธรรม ซึ่งผลจากการสัมมนาในครั้งนี้ คณะทำงานการกีฬาฯ จะได้รวบรวมข้อเสนอจากที่ประชุมไปสังเคราะห์และจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ