โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยุคใหม่ “ยึดมั่น ศรัทธาในวิถีแห่งศาสนา ..... เสริมคุณค่าวิทย์ คณิตให้เยาวชน”

ข่าวทั่วไป Friday July 13, 2012 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สสวท. จากโรงเรียน "ปอเนาะ" สถาบันการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ โรงเรียนที่เปิดสอนวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว และโรงเรียนที่เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาศาสนา ซึ่งแบบหลังนั้น มีชื่อเรียกว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนสายสามัญ ซึ่งยังคงเรียนรู้ตามหลักศาสนาตามแบบเดิม ควบคู่ไปกับพื้นฐานความรู้วิชาสามัญ ในวันนี้ สสวท. - ศอ. บต. - สช. สามหน่วยงานประสานยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้แก่โรงเรียนดังกล่าว โดยล่าสุดได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการดำเนินโครงการพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนสายสามัญ สังกัด สช. ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง นำโดย นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ. บต. และนายโรจนะ กฤษเจริญ รองเลขาธิการ สช. ในความร่วมมือนี้ สสวท. มีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับอบรมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ให้การสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ รวมทั้งติดตาม นิเทศ ประเมินผลการอบรม ส่วน สช. สนับสนุนสื่อ และงบประมาณในการฝึกอบรม การนิเทศ กำกับติดตามผล ดูแลครูที่ผ่านการอบรมเพื่อขยายผล “ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา สตูล และพัทลุง จะมีศูนย์ประจำจังหวัด จังหวัดละ 10 ศูนย์ ดังนั้นจะมีทั้งหมด 60 ศูนย์ จากนั้นจะอบรมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ศอ. บต. จะให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อบรมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สนับสนุนสื่อ อุปกรณ์และความร่วมมือต่างๆ สนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย” นายอดินันท์ ปากบารา กล่าว โครงการนี้จะดำเนินไปไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนสายสามัญ 60 โรงเรียน ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา สตูล และพัทลุง ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์ให้การอบรมครูในท้องถิ่นภาคใต้ต่อไป หนึ่งในจำนวนนั้น คือ โรงเรียนนูรุลอิสลามหนองธงมูลนิธิ จังหวัดพัทลุง ซึ่งรับหน้าที่เป็นศูนย์วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา และศูนย์วิชาคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดย นายสมศักดิ์ หมัดหลี ผู้อำนวยการ และนายอารี หมีนปาน ผู้จัดการ ได้เล่าให้ฟังว่า จุดเด่นของโรงเรียน คือ หลักปฏิบัติตามแนวศาสนาอิสลามของนักเรียน ทำให้มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเด็ก ๆ ได้ปฏิบัติตนตามหลักศาสนาควบคู่ไปกับการเรียนวิชาสามัญ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนหลักการทางศาสนา ตัวอย่างเช่น การชำระล้างเนื้อสัตว์ หรือล้างผักอย่างปลอดภัย เพื่อคุณค่าทางอาหารและคงไว้ตามหลักศาสนา และอื่นๆ เป็นต้น โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อจากนี้ไปจะพัฒนาครูในโรงเรียนของตนให้ทั่วถึง แล้วจะพัฒนาครูในโรงเรียนใกล้เคียงต่อไป ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยให้นักเรียน มีเครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ใช้ ครูได้พัฒนาเทคนิคการสอน และการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาทั้งวัสดุ อุปกรณ์ วิชาการ เทคนิคการสอน ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร “หนึ่งปีที่ผ่านมา หลังจากที่ครูเข้ารับการอบรมจาก สสวท. และได้ขยายผลให้เพื่อนครู ในโรงเรียนด้วย เห็นได้ชัดว่า นักเรียนได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ครูสอนสนุกขึ้น เด็กเรียนสนุกขึ้น เด็กไม่เบื่อ นอกจากนั้น พบว่า นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของรัฐได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยทักษิณ คิดว่าน่าจะเป็นผลพวงจากการเข้าร่วมโครงการนี้” คณะผู้บริหารโรงเรียนนูรุลอิสลามหนองธงมูลนิธิกล่าว โรงเรียนอันซอเรียะห์อัตดีนียะห์ จังหวัดสตูล ซึ่งเป็น ศูนย์วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยนายสุกรี นาคกระวัศ ผู้จัดการ และนางกาศมา นาคกระวัศ ผู้อำนวยการ บอกกับเราว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6ครูวิทยาศาสตร์มีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาครบ หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้กับ สสวท. เป็นปีที่สอง ครูได้นำสื่อและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับจากการอบรมไปใช้สอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้นักเรียนสนใจมากกว่าเดิม บทบาทของโรงเรียนในการเป็นศูนย์ ฯ นั้นจะถ่ายทอดแนวการสอนที่ได้รับการอบรมจาก สสวท. และให้โรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงยืมสื่ออุปกรณ์ไปใช้ได้ นอกจากนั้นจะให้ความร่วมมือทางวิชาการ แก่โรงเรียนใกล้เคียง เช่น จัดอบรมในกลุ่มย่อย ๆ ภายในโรงเรียนมีการส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรที่กำหนด คุณครูและนักเรียนได้ติดตามชมรายการวิทยสัประยุทธ์ ของ สสวท. ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 บ่อยๆ และชื่นชอบมาก อยากให้นักเรียนลองไปแข่งขันในรายการนี้บ้าง การที่ได้ชมรายการนี้ทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการทดลอง ได้รับประสบการณ์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลักการของกระบอกฉีดน้ำเอาไปรดน้ำพืชผัก ภาวะผู้นำ เทคนิคการนำเสนอ ได้กระบวนการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ กระบวนการวางแผน และคุณครูเองก็ได้แนวทางในการทำโครงงานและกระบวนการคิด การแก้ปัญหานำไปใช้สอนนักเรียน “นักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ความสนใจเรียน แต่โรงเรียนยังขาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง นักเรียนมีประสบการณ์น้อยเรื่องการใช้ห้องปฏิบัติการ จึงอยากพัฒนาด้านนี้เยอะ ๆ หวังว่าหลังจากที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ไปแล้วจะได้รับการพัฒนาในสิ่งที่ยังขาดแคลนอยู่ เพื่อจะเป็นศูนย์ได้ครบวงจร โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ราคาสูงและหาซื้อได้ยากในท้องถิ่น เช่น ชุดทดลอง กล้องจุลทรรศน์ รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์” คณะผู้บริหารโรงเรียนอันซอเรียะห์อัตดีนียะห์กล่าว โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ซึ่งเป็น ศูนย์คณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยนายรอซี เบ็ญสุหลง ผู้อำนวยการ และนายอับดุลรอห์มาน ตูปะ ผู้จัดการ เล่าว่า โรงเรียนมีการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภาคที่สอนศาสนา ให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม เช่น การสอนเกี่ยวกับศาสนาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จริยธรรม ศรัทธา ศาสนบัญญัติ วจนะ และอื่น ๆ โดยสอนเป็นภาษามลายูกับอาหรับ และภาคที่สอนวิชาสามัญ นักเรียนเรียนแบบไปกลับ โดยจัดการเรียนการสอน สัปดาห์ละ 6 วัน ในขณะที่บางโรงเรียนใช้เวลาสัปดาห์ละ 5 วันก็มี โรงเรียนมีความพร้อมด้านสถานที่และบุคลากร มีครูคณิตศาสตร์ที่ผ่านการอบรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสวท. แล้ว 3 คน ต่อจากนี้ จะพัฒนาครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก แล้วขยายผลไปยังเครือข่ายภายในกลุ่มโรงเรียนเดียวกัน “ผมคิดว่า สสวท. แก้ปัญหาถูกทาง เพราะปัญหาหนึ่งที่พบในโรงเรียนเอกชน ฯ คือ การโยกย้ายของบุคลากร ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี การสร้างครูพี่เลี้ยงทางวิชาการเพื่อขยายผลอบรมครูจึงเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งในการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผลการสอบโอเน็ตตกต่ำมาก ต้องแก้ไขอีกมากในด้านนี้ โดยเฉพาะความตระหนักในการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนยังมีน้อย ต้องหาเทคนิคต่าง ๆ ที่จะให้นักเรียนรักที่จะเรียนคณิตศาสตร์ เป็นหน้าที่ของครูที่จะแนะนำช่วยเหลือนักเรียน คณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งเราพยายามเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้ให้นักเรียนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คิดว่านักเรียนคงได้ความสนุก เพราะเป็นประโยชน์และเห็นคุณค่าในการเรียน นอกจากนั้นครูต้องสอนเน้นเกี่ยวกับกระบวนการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์” สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า เริ่มแรกได้มีการปูทางให้นักเรียนได้รู้จักประเทศสมาชิกในอาเซียนก่อน และเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่นักเรียน และครูผู้สอน ปีหน้าจะเริ่มสอน English Program ด้วย ในส่วนของภาษามลายู มีครูดีเด่นด้านการสอนภาษามลายู มาอบรมให้แก่ครูผ้สอนภาษาดังกล่าว 100 คน ที่จังหวัดยะลา จัดโดยสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดยะลา โดยใช้งบประมาณ ศอ. บต. และในอนาคต ศอ. บต. จะให้ทุนการศึกษาต่อแก่ครูที่สอนภาษามลายูอีกด้วย “ทั้งนี้ ทางภาคใต้มีข้อได้เปรียบคือ ภาษามลายู แม้ว่าจะเป็นภาษามลายูถิ่น ก็น่าจะปรับตัวสู่การใช้ภาษามลายูกลางได้ ผู้คนในเอเซียมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์พูดภาษามลายูกลาง ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฉะนั้นมลายูกลางจะเป็นภาษาที่สำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากภาษาอังกฤษ นอกจากนั้น ยังมีความโดดเด่นด้านการสอนวิชาศาสนา น่าจะดึงคนจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมาเรียนที่ประเทศไทยได้ ส่วนวิชาสามัญทางโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามปรับปรุงให้นักเรียนเก่งและมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น” คณะผู้บริหารโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลากล่าว สุดท้าย ขอยกคำกล่าวของผู้บริหารโรงเรียนนูรุลอิสลามหนองธงมูลนิธิ ที่ได้กล่าวเอาไว้ในงานนี้ว่า “วิทยาศาสตร์เสริมกระบวนการคิด ศาสนาเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใจ นั่นคือการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนากับกระบวนการคิดและเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สามารถไปด้วยกันได้” ….จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในเขตจังหวัดชายแดนภายใต้ในอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นั้นเป็นรากฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ