อพท. ร่วมพิธีบวงสรวง “เรือช้าง” ที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ก่อนจมสู่ทะเลเกาะช้าง เปิดจุดดำน้ำลึก ๑๖ ส.ค.นี้

ข่าวท่องเที่ยว Monday July 16, 2012 18:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--อพท. วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๔๙ น. พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับ พล.ร.ต.ประพฤติพร อักษรมัต เจ้ากรมกิจการพลเรือน ทหารเรือ น.ท. สมบัติ บุญเกิดพานิช นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด นายฐิติกรณ์ โลหะคุปต์ นายกสมาคมประมงจังหวัดตราด ทำพิธีบวงสรวงเรือช้าง ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ การบวงสรวงเรือช้าง จัดขึ้นเพื่อปรับปรุงและทำความสะอาดเรือ ก่อนที่จะลากจูงเรือไปไว้ที่ ท่าเทียบเรือสวนหลวง พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.๑) โดยใช้เวลาลากจูงเรือ ๓ วัน จากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดพิธีสมโภชน์เรือช้าง หน้าจุดชมวิว หาดไก่แบ้ ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง กำหนดจัดพิธีนำเรือช้างจมลงสู่ทะเล ตามโครงการเรือหลวงช้าง รักษ์ทะเลตราด ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ บริเวณหินลูกบาต แนวหินที่โผล่ขึ้นมาปริ่มน้ำ อยู่ตรงร่องน้ำระหว่าง เกาะช้างกับเกาะคลุ้ม เพื่อเปิดจุดดำน้ำลึกขนาดใหญ่เพิ่มอีกหนึ่งแห่งในเกาะช้าง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวได้ เพราะสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนจุดดำน้ำบริเวณเกาะช้างได้ดียิ่งขึ้น เกาะคลุ้ม เป็นภูเขาแฝด ๒ เกาะติดกัน มีสันทรายขนาดใหญ่เชื่อมตรงกลาง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ยุทธนาวีเกาะช้าง เพราะบริเวณดังกล่าว เป็นจุดที่เคยมีการสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กรณีข้อพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส ในปี ๒๔๘๒ ซึ่งเรือหลวงธนบุรีหนึ่งในเรือรบที่ใช้ต่อสู้ในครั้งนั้น ได้ต่อสู้กับเรือลามอตต์ปิเกต์ของฝรั่งเศส แม้ว่าจะทำให้เรือลามอตต์ปิเกต์ถอยล่าออกไปจากน่านน้ำของไทย แต่สุดท้ายเรือหลวงธนบุรีก็ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดจนไฟลุกท่วม เรือหลวงช้าง จึงเข้าช่วยดับไฟเรือหลวงธนบุรี และได้จูงเรือหลวงธนบุรีมาเกยตื้นที่แหลมงอบ หลังจากนั้นกองทัพเรือจึงสละเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงช้าง เดิมทีเป็นเรือที่ใช้ลำเลียงกำลังพล รถถัง รถจีเอ็มซี และยุทโธปกรณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้สนับสนุนการรบในสงครามเกาหลี ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้มอบเรือดังกล่าวให้แก่กองทัพไทย ลักษณะพิเศษของเรือหลวงช้างคือ ด้านหัวเรือเปิดได้เพื่อให้รถถังสามารถแล่นเข้าออกได้อย่างสะดวก มีขนาดกว้าง ๑๕ เมตร สูง ๒๖ เมตร มีห้องต่าง ๆ ในตัวเรือมากมาย เหมาะกับการเป็นบ้านปลา แต่เนื่องจากกองทัพเรือได้ปลดประจำการมานานแล้ว ปัจจุบันจึงไม่สามารถเรียกชื่อว่า “เรือหลวงช้าง” คงเหลือแต่เพียงชื่อ “เรือช้าง” เพื่อเป็นสัญลักษณ์อยู่คู่เกาะช้างตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ