ข้อมูลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

ข่าวทั่วไป Thursday July 19, 2012 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค โรคและระบาดวิทยาของโรค โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease : COPD) เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจที่มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก เนื่องมาจากปอดอักเสบและถูกทำลาย โดยโรคในกลุ่มนี้ประกอบด้วย โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) และโรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นก็คืออาการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากการสูดเอาสารพิษต่างๆ เข้าสู่ปอด สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว การสูบบุหรี่ถือเป็นสาเหตุหลักของโรคกลุ่มนี้ ในขณะที่มลภาวะในอากาศก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญได้เช่นกันในประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการสูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุใหญ่เพียงอย่างเดียว ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลยหรือเลิกสูบมานานแล้วก็อาจล้มป่วยจากโรคนี้ได้เช่นกัน อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่พบได้ทั่วไปคือ มีอาการหายใจหอบ มีเสมหะมาก และไอเรื้อรัง ความรุนแรงของอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ความชุกของโรค แม้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันและควบคุมได้แต่โรคกลุ่มนี้ก็ยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งยังก่อให้เกิดภาระทางการเงินในขณะทำการรักษาอีกไม่น้อย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการว่ามีผู้ป่วยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระดับความรุนแรงปานกลางถึงสูงอยู่กว่า 65 ล้านคนทั่วโลก โดยในปี 2548 นั้น มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกปัจจุบัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของโลก และมีการคาดการณ์ว่าจะขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ภายในปี 2573 อีกด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณ 250 คนทั่วโลก หรือเท่ากับ 1 คนทุกๆ 15 วินาทีนั่นเอง จากข้อมูลผลการสำรวจการระบาดและผลกระทบจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแห่งเอเชีย (EPIC ASIA Survey) พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมากถึง 6 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังเผยว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรั้งยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยโรค การกำเริบของโรค ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะต้องเผชิญกับอาการของโรคที่กำเริบขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบวันต่อวัน จนนำไปสู่อาการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรงหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการในขณะกำเริบของโรคกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยการอักเสบภายในระบบทางเดินหายใจ หรือความเปลี่ยนแปลงในสภาวะของปอด จนนำไปสู่อาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง มีน้ำมูก เหนื่อยง่าย และอื่นๆ ทั้งนี้ อาการเหล่านี้มักจะเกิดมาจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจตอนล่างหรืออาการอักเสบที่ร้ายแรงขึ้นในบริเวณหลอดลม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นมีอาการที่เห็นได้ชัดในขณะกำเริบ และมักก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความเครียดแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งปอดทำงานผิดปกติ และมีโอกาสเสียชีวิตในเวลาต่อมา แน่นอนว่าผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อยครั้งนั้น จะมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการกำเริบเพียงน้อยครั้ง มีรายงานว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะที่สอง 33 เปอร์เซ็นต์ในระยะที่สาม และ 47 เปอร์เซ็นต์ในระยะที่สี่นั้น (แบ่งตามแนวทางการแบ่งระยะโรคขององค์กรโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก— Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease หรือ GOLD) มีอาการกำเริบในระดับที่ค่อนข้างถี่ ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาหรือบำบัดด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็ตาม จากข้อมูลพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังภายในระยะเวลา 12 เดือนหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในระยะเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในขณะกำเริบนั้น ก็ถือได้ว่าร้ายแรงและน่ากลัวไม่แพ้โรคหัวใจ โดยผู้ป่วยหลายคนได้เปรียบเทียบอาการของโรคนี้กับการจมน้ำหรือหายใจไม่ออก การรักษาและการจัดการ องค์กรโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก หรือ GOLD ได้แนะนำว่าแนวทางที่ดีการรับมือกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังควรจะครอบคลุมถึงการสังเกตการณ์และประเมินอาการของผู้ป่วย โดยรวมถึงเทคนิคและวิธีการชักชวนให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ และการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ทั้งของโรคนี้และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ทั้งนี้ นอกจากการรักษาโดยใช้ยาแล้ว ยังควรวางแผนการรักษาอื่นๆ ไว้ด้วยเช่นการลดความเสี่ยง การให้คำปรึกษาผู้ป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดด้วย สำหรับวิธีการรักษาโรคปอดอุดกั้นนั้น ควรมุ่งเน้นไปที่การพยายามควบคุมอาการของโรคในแต่ละวัน รวมถึงการบรรเทาอาการต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายและใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังควรมีการลดความเสี่ยงของอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การหยุดยั้งมิให้โรคมีอาการร้ายแรงยิ่งขึ้น การป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน และการลดความเสี่ยงการเสียชีวิต การรักษาด้วยการขยายหลอดลมเป็นวิธีสำหรับบรรเทาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยองค์กรโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก หรือ GOLD ได้แจ้งไว้ในเดือนธันวาคมปี 2554 ว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการลดผลกระทบจากอาการในปัจจุบันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเท่าๆ กัน ด้วยเหตุนี้เอง แพทย์และพยาบาลผู้ทำการรักษาจึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นทั้งในด้านการรักษาอาการต่างๆ ในระยะสั้น และการลดความเสี่ยงในระยะยาว ปัญหาในการรักษา ปัจจุบันนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังยังถือว่าเป็นโรคที่มีปัญหามากมายในการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักจะใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบเดียวกับผู้ป่วยโรคหอบหืด โดยยังไม่มีวิธีการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี การอาการอักเสบที่พบในโรคทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ป่วยสองโรคนี้จึงมีอาการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันมาก วิธีการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในปัจจุบันนั้น ทำได้เพียงช่วยลดความรุนแรงของอาการเท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้รักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยหลายราย แม้จะได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ก็ยังคงมีอาการกำเริบได้ จนอาจทำให้สุขภาพทรุดลงหรือแม้แต่เสียชีวิตได้ ดังนั้น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจึงเป็นโรคที่สร้างภาระมหาศาลให้แก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและระบบสาธารณสุขทั่วโลก สำหรับในอนาคตนั้น การวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของโรคแทรกซ้อน ประเภทต่างๆ ของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ความเข้าใจถึงอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรค และผลกระทบของปัจจัยอื่นๆ (นอกจากสุขภาพปอด) ที่มีต่ออาการของโรค ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถรับมือกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น [1] Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease (GOLD). . Global strategy for the diagnosis, management, and prevention of COPD. Updated 2011. Available from http://www.goldcopd.org/ [2] British Lung Foundation. COPD. 2007. URL (accessed 22/06/09): http://www.lunguk.org/you-and-your-lungs/conditions-anddiseases/copd.htm [3] World Health Organization, Chronic Respiratory Diseases, URL (accessed 23/03/12): http://www.who.int/respiratory/copd/burden/en/index.html [4] Takeda. Data on file. ‘Epidemiology and Impact of COPD in Asia’ Survey. Fieldwork carried out by Abt SRBI. June 2012 [5]Perera WR et al. Inflammatory changes, recovery and recurrence at COPD exacerbation European Respiratory Journal 2007;29: 527—34. [6]Papi A et al. Infections and Airway Inflammation in Chronic Obstructive Pulmonary Disease Severe Exacerbations American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine 2006; 173: 1114—1121 [7] NICE Clinical Guidance. Management of exacerbations of COPD. Thorax. 2004; 59: 131-56. [8]Wedzicha JA and Seemungal TAR. COPD exacerbations: defining their cause and prevention. Lancet 2007; 370: 786—96 [9]Seemungal T and Sykes A. Recent advances in exacerbations of COPD. Thorax 2008; 63: 850-52. [10]Halpin D. Mortality in COPD: Inevitable or Preventable? Insights from the Cardiovascular Arena. COPD: Journal of Chronic Obstructive Pulmonary Disease 2008. 5:3, 187-200 [11] British Lung Foundation (BLF) Breathing Fear Report. 2003. Download at www.tin.nhs.uk/EasysiteWeb/getresource.axd?AssetID=15028&type=Full&servicetype=Attachment [12]Anden?s R, Kalfoss MH and Whal AK. Coping and psychological distress in hospitalized patients with chronic obstructive pulmonary disease. Heart & Lung: The Journal of Acute and Critical Care. 2006. 35(1), 46-57 [13]Goodridge D et al. Caring for critically ill patients with advanced COPD at the end of life: A qualitative study Intensive andCritical Care Nursing, 2008. 24(3), 162-170 [14] Barnes PJ. Corticosteroid resistance in airway disease. Proceedings of the American Thoracic Society 2004; 1: 264—8 16 Postma D, et al. A new perspective on optimal care for patients with COPD. Prim Care Respir J 2011; 20: 205-9 17 Hurst JR, et al. Susceptibility to Exacerbation in Chronic Obstructive Pulmonary Disease. N Engl J Med 2010; 363: 1128-38

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ