นักวิจัยไทยและต่างประเทศร่วมเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เชิงคำนวณ เฉลิมฉลองวันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครบ 14 ปี

ข่าวเทคโนโลยี Friday July 16, 2004 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มทส.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (NSRC) จัดการประชุมวิชาการ “The 8th Annual National Symposium on Computational Science and Engineering (ANSCSE8)” ระหว่างวันที่ 21 — 23 กรกฎาคม 2547 ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด ในการนี้มีนักวิจัยและนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน และมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 150 เรื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ สาคริก รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการการจัดประชุม เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการ เอนเซ่ (ANSCSE) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ซึ่ง มทส ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ มีจุดประสงค์หลักเพื่อแสดงศักยภาพและผลงานวิจัย ตลอดจนเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เชิงคำนวณสาขาต่างๆ ซึ่งอาศัยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเป็นเครื่องมือในการวิจัย เพื่อให้คณาจารย์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัยได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพิ่มประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานวิจัย รวมถึงเป็นเวทีแห่งการสร้างเครือข่ายแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับกิจกรรมประกอบไปด้วย การนำเสนอผลงานด้วยวาจา การนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ การบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เชี่ยวชาญทางด้าน Computational Fluid Dynamics และ Computational Chemistry and Biology ซึ่งเป็นสาขาที่ประยุกต์ใช้กับการวิจัยด้านเทคโนโลยีนาโน จากประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสได้ทดลองใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงชนิดขนานในลักษณะ Cluster Computing โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก San Diego Supercomputing Center (SDSC) ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการวิจัย เช่น NECTEC, NSRC และ MTEC เป็นต้น
“ถึงแม้ว่านักวิจัยด้านวิทยาการเชิงคำนวณทั้งวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยจะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเสนอผลงานมากกว่าทุกปี โดยขณะนี้มีส่งผลงานเข้านำเสนอในการประชุม ครั้งนี้ทั้งในและต่างประเทศ จำนวนรวม 153 เรื่อง เป็นการนำเสนอผลงานด้วยวาจา จำนวน 133 เรื่อง และการนำเสนอแบบโปสเตอร์ จำนวน 20 เรื่อง ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลงานเข้านำเสนอมากที่สุดถึง 31 เรื่อง รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 26 และ 22 เรื่องตามลำดับ นอกจากนี้สัดส่วนของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เข้าร่วมประชุมก็มากขึ้นด้วย การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาปนาครบรอบ 14 ปี แล้ว ยังจะเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมครั้งสำคัญของ มทส และนักวิจัยไทย ที่จะร่วมกันสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อพัฒนาวิชาการและทิศทางของการวิจัยขั้นสูงของไทยต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ สาคริก กล่าวในที่สุด--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ