งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค มือ เท้า ปาก

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2012 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าวเรื่องงานวิจัยช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก ณ โซนนิทรรศการ บริเวรศูนย์การเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำงานวิจัยมาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. เล็งเห็นผลกระทบและเพื่อให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะนำมาแก้ปัญหาของประเทศชาติ วช. จึงได้ให้การสนับสนุนให้เกิดมีการวิจัยโรค มือ เท้า ปาก เพื่อนำมาแก้ปัญหาของประเทศแบบเร่งด่วน โดยได้มีการสนับสนุน ให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านระบาดวิทยาถึงสาเหตุของไวรัสในการก่อโรค การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสที่เป็นสาเหตุในการระบาด และคาดคะเนการระบาดในอนาคต แนวทางการตรวจวินิจฉัย ให้ได้ผลอย่างถูกต้อง รวดเร็วเพื่อตอบปัญหาในรายที่เป็นรุนแรงและมีอาการของโรคไม่ชัดเจนเพื่อให้ความมั่นใจต่อสังคมในการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง รวมทั้งการตรวจระบบภูมิคุ้มกันของโรค เพื่อเป็นข้อมูลและนำผลไปใช้ในมาตรการการป้องกันและการพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคในอนาคต ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส เอนเทอโรไวรัส เชื้อที่พบเป็นสาเหตุบ่อยคือ coxsackievirus A, B รองลงมาคือ enterovirus 71 (EV71) มักเกิดการระบาดในเด็ก การแพร่กระจายเชื้อ มี 2 ลักษณะ คือ 1. การสัมผัสโดยตรง (direct contact ) กับสารคัดหลั่งจากจมูก จากคอหรือน้ำจากในตุ่มใส ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือตามตัว 2. อุจจาระของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัส (fecal - oral route ) ช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ ในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการและจะยังสามารถแพร่เชื้อจนรอยโรคหายไป อาจยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วย ต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ หลายวัน โรคมือ เท้า ปาก มักมาด้วยอาการไข้ โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 39 องศาเซลเซียส เจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร พบตุ่มแผลตื้น ๆ ในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม มักพบมากกว่า 1 แผล ร่วมกับพบผื่นแดงที่ผิวหนังมีตุ่มน้ำใส (vesicles) บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า เข่า ก้น ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผลจะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมักมีไข้อย่างเฉียบพลัน บางครั้งไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในรายร้ายแรงจะมี อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง มีได้หลายแบบ และความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นกับเชื้อไวรัสจะไปทำลายระบบประสาทส่วนใด เกิดภาวะสมองอักเสบนั้น มักมีความรุนแรง และมักจะเกิดจากการติดเชื้อ EV-71 และอาจพบร่วมกับภาวะปอดและหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปี มีไข้สูงนานเกิน 2 วันมีหายใจแรง ชักกระตุก อาเจียน ซึม แขนขาอ่อนแรง ควรพบแพทย์ควรตรวจหาความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางอย่างละเอียด เพื่อดูแลและป้องกันในผู้ป่วยในกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย มีผู้ป่วยจำนวนมากเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ประกอบกับการระบาดในประเทศกัมพูชา ทำให้เด็กเสียชีวิตมากกว่า 50 ราย สร้างผลกระทบต่อประชากรไทย ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร 0 2561 2445

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ