คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยัน “ผู้ว่าฯสมัคร” รักษาการต่อไปได้จนกว่าคนใหม่มารับงานต่อ

ข่าวทั่วไป Thursday July 22, 2004 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กทม.
กทม. หมดกังวลไม่ขาดผู้บริหาร หากกกต.ประกาศผลผู้ว่าฯคนใหม่ได้ช้าเหตุเนื่องจากการร้องคัดค้าน ไม่กระทบงานกทม. คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ “ผู้ว่าฯสมัคร” รักษาการต่อไปได้จนกว่ามีผู้ว่าฯคนใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยยังมีอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม ส่วนทีมงานรองผู้ว่าฯกทม. เลขานุการ และคณะที่ปรึกษาฯ ไม่ต้องรักษาการ
คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน (นายสมัคร สุนทรเวช) จะดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 22 ก.ค. 47 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ ในวันที่ 29 สิงหาคม นี้ อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งใหม่นี้อำนาจในการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งอาจทำให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ไม่ได้ประกาศรับรองทันทีหลังการนับคะแนนเสร็จ และในกรณีที่มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งซึ่งทำให้การประกาศผลต้องล่าช้าออกไป อันจะมีผลทำให้ผู้ว่าฯกทม.คนเดิมไม่สามารถมอบหมายงานในหน้าที่ภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้งตามที่พระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ระบุไว้ในมาตรา 48 ได้ ในการนี้ กทม.จึงได้หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงระยะเวลาในการคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปของผู้ว่าฯกทม. และอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานขณะคงอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หากผู้ว่าฯกทม.พ้นตำแหน่ง ด้วยเหตุถึงคราวออกตามวาระ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าผู้ว่าฯกทม.ซึ่งได้รับการเลือกตั้งใหม่เข้ามารับหน้าที่ และในขณะที่ยังรักษาการอยู่นั้นก็จะมีอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.เช่นเดิม เพื่อให้การบริหารราชการของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ส่วนรองผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 4 คน รวมทั้งเลขานุการผู้ว่าฯกทม. และคณะที่ปรึกษาฯจะพ้นตำแหน่งตามวาระโดยไม่มีการรักษาการ
ด้านนายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ว่า ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกทม. ได้จัดเตรียมห้องอเนกประสงค์ ไว้เป็นสถานที่รับสมัคร โดยจัดพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวและถ่ายทอดสดบรรยากาศการรับสมัคร พร้อมทั้งตั้งทีวีวงจรปิดขนาด 32 นิ้ว และเครื่องโทรสารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชน โดยได้นัดประชุมซักซ้อมร่วมกับสื่อมวลชนในวันนี้ (21 ก.ค.47) เวลา 14.00 น. ซึ่งสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งครั้งนี้กระตุ้นให้คนอยากไปสิทธิกันมากขึ้น โดยขณะนี้เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ รับรู้ถึงวันสำคัญจากป้ายประชาสัมพันธ์ และสื่อต่างๆ ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 29 สิงหาคม นี้ แต่การจะทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญต่อการไปทำหน้าที่ของคนกรุงเทพฯด้วยการไปใช้สิทธิเลือกพ่อเมืองของตนเองนั้นเป็นหน้าที่ของกทม.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันกระตุ้น โดยในส่วนของกทม.นั้น ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณประชาสัมพันธ์มาแล้ว กำลังเร่งรัดดำเนินการตามแผนฯที่ว่าไว้ ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไปจะมีสื่อและกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ออกไปเต็มพื้นที่และทวีความเข้มเข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงวันเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ไปแล้วหลายกิจกรรมโดยไม่ใช้งบประมาณ ด้วยการประสานความร่วมมือ จากหน่วยงานภายนอกต่างๆ เช่น การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณแยกสำคัญ ถนนสายหลักและสายรอง รวมทั้งสถานีรถไฟฟ้า BTS การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สปอตวิทยุรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสัมภาษณ์ผู้บริหาร กทม.ทางสถานีวิทยุ จำนวน 13 สถานี การประชาสัมพันธ์เชิญชวนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทางใบแจ้งหนี้ ไปรษณียภัณฑ์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าว และรถของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท โพสเน็ต ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือ 5 เครือข่าย ได้แก่ AIS, Orange, DTAC, PCT และ HUTCH โดยจะส่งข้อความรณรงค์เลือกตั้งไปใช้ลูกค้าของบริษัท ระหว่างวันที่ 2-29 ส.ค. 47 ซึ่งจะมีการแถลงข่าวความร่วมมือในโอกาสต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ