ต้องอ่าน! ล้วงเบื้องลึกประกันภัย กับ นิตยสาร Business+ ฉบับพิเศษ “ล้วงลึกประกันภัย ฉบับเข้าใจง่าย”

ข่าวทั่วไป Monday July 30, 2012 19:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--นิตยสาร Business+ นิตยสาร Business+ ฉบับพิเศษ “ล้วงลึกประกันภัย ฉบับเข้าใจง่าย” หวังที่จะเป็นสื่อกลาง ในการถ่ายทอดความรู้และข้อมูลอันเป็นประโยชน์สู่สาธารณชนว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีคุณค่ามหาศาลต่อการบริหารจัดการชีวิตและทรัพย์สิน ที่ประชาชนทุกคนควรรู้จักหยิบใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดย “ล้วงลึกประกันภัย ฉบับเข้าใจง่าย” ยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลบริษัทประกันภัยในแง่ต่างๆ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด และเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดมุมมองความคิดของผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัย วิสัยทัศน์ของผู้นำในอุตสาหกรรม และวิสัยทัศน์ของบริษัทประกันภัยชั้นนำของไทย ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดด้วย มหาอุทกภัยที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และภาคสังคมของไทย โดยผลกระทบและความเสียหายต่อภาคธุรกิจนั้น คาดว่าจะไม่น้อยกว่า 450,000 ล้านบาท แต่เป็นที่โชคดีว่าความเสียหายดังกล่าวนั้น ได้ส่งให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ มีเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่กระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยของไทย แต่เพียงส่วนเดียวนั้น ก็กินมูลค่าหลายพันล้านบาท ถึงวันนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่ยืนหยัดฝ่าวิกฤตน้ำท่วมมาได้นั้น เลขาธิการ คปภ.ยืนยันว่า ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งแทบทั้งสิ้น แต่กระนั้นบริษัทประกันภัย ยังต้องเผชิญบททดสอบถัดไปกับ AEC ในปี 2015 ที่มีคู่แข่งสุดหินอย่างสิงคโปร์ ที่มีอัตรากรมธรรม์ต่อประชากรมากกว่า 100% และมาเลเซียที่มีอัตรากรมธรรม์ต่อประชากรที่ 70% (ของไทยเรามีกรมธรรม์ต่อประชากรอยู่ที่ 30% เท่านั้น) ตามที่ได้รับฟังจากผู้กำกับดูแล และผู้บริหารหลายท่านในแวดวงประกันชีวิต และวินาศภัยนั้น พบว่า บริษัทประกันของไทย แยกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในเครือธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มบริษัทที่มียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศถือหุ้น 2.กลุ่มบริษัทประกันขนาดกลาง ที่มีความแข็งแกร่ง และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และ 3.กลุ่มบริษัทประกันที่มีความแข็งแกร่งน้อย และมุ่งทำตลาดเฉพาะกลุ่ม ทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีความพร้อมเผชิญกับ AEC ที่แตกต่างกัน กลุ่มแรก ไม่เพียงแต่มีความแข็งแกร่งที่พร้อมเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังมีศักยภาพในการบุกตลาดอาเซียน กลุ่มที่สอง ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง บางรายอาจจะแสวงหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ยังต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจต้องควบรวมกิจการ หรือแสวงหาพันธมิตรจากต่างประเทศเพื่อความแข็งแกร่ง แน่นอนว่าความเป็นห่วงทั้งหมด ของหน่วยงานรัฐและเอกชน จึงมุ่งมายังกลุ่มที่สามว่า จะมีแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้อย่างไร? แต่ประเด็นปัญหาที่เริ่มพูดถึงกันอย่างกว้างขวางและมีความสำคัญมากที่สุด คือ หน่วยการกำกับของรัฐจะปรับปรุงกติกา และกฎระเบียบอย่างไร เพราะกติกาของธุรกิจประกันภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นกติกาสำหรับธุรกิจในประเทศเท่านั้น ถ้าจะเปิดตัวการแข่งขัน ในรายละเอียดของกติกาคงต้องเป็นสากลมากขึ้น... แต่นั่นแหละคือความเป็นห่วงของบริษัทประกันเกือบทุกแห่ง หากยังจำเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กันได้ จะเห็นว่าภายใต้เงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสมหาศาลให้กับกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสบนวิกฤตของประเทศ 2 ปีกว่าๆ นับจากนี้ จึงเป็นเวลาแห่งการพิสูจน์ ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย พิสูจน์ความจริงใจของภาครัฐในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พิสูจน์ความต่อเนื่องของนโยบายหน่วยงานกำกับที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง... การจะยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อรองรับ AEC 2015 จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย Business+ ในฐานะสื่อมวลชน เปิดกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ