เตือนภัยคนอายุต่ำกว่า 45 ปี เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday July 27, 2004 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
อายุรแพทย์โรคหัวใจเตือนผู้อายุต่ำกว่า 45 ปีระวังภัยอันตรายจากการเป็นโรคหัวใจวายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชาย
ปัจจุบันภาวะโรคหัวใจได้กลายเป็นโรคยอดนิยมในประเทศไทยติดอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง โดยในกลุ่มผู้ชายจะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวอัตราเฉลี่ยที่ 60 ปี และในกลุ่มผู้หญิงที่ 70 ปี แต่ที่น่ากังวลมากกว่านี้คือกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 45 ปี มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจวายมากขึ้น
ข้อมูลจาก National University Hospital (NUH) ในสิงคโปร์ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยผู้ป่วยจำนวน 2,450 ราย ที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากประสบภาวะหัวใจวายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 45 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี หรือจากที่เข้ารักษาตัวในปี 2543 จำนวน 10.8% เทียบกับตัวเลขในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 15.8% ซึ่งประมาณ 90% เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 45 ปี และผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดคือ 21 ปี
โดยนายแพทย์หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจของ NUH เปิดเผยว่ากลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 45 ปีที่เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอาจจะสืบเนื่องมาจากคนอายุน้อยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ากว่า 60% ของผู้ป่วยที่อายุน้อยเป็นพวกที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ รวมไปถึงออกกำลังกายน้อย และนิยมทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้กลุ่มผู้ชายที่มีองค์ประกอบจากปัจจัยข้างต้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูงตั้งแต่อายุยังน้อย
สำหรับในประเทศไทย ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary Artery Disease - CAD) ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ นั้น มีการประมาณว่าทุกๆ หนึ่งชั่วโมงมีคนไทยเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย 7 คน โดย 1 ใน 3 ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่จะไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารไม่ย่อย หน้ามืดวิงเวียน หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดจากการที่ไขมันไปเกาะผนังภายในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ไม่สะดวก สำหรับแนวทางการรักษานั้น อายุรแพทย์โรคหัวใจ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ว่าผู้ป่วยกรณีใดควรรักษาด้วยยาหรือไม่ควรทำการผ่าตัด Bypass ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือแพทย์อาจเลือกใช้การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการใช้ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งไม่ต้องใช้การผ่าตัด แต่ใช้วิธีสอดเส้นลวดนี้เข้าไปทางบริเวณหน้าขาหรือข้อมือของผู้ป่วยเพื่อไปยังหลอดเลือดที่อุดตัน ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจมีหลายชนิด หากเป็นชนิดพิเศษที่เคลือบสารซิโรลิมุสไว้จะทำให้โอกาสที่หลอดเลือดกลับมาอุดตันมีน้อยมาก เพราะสารที่เคลือบไว้จะค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์ในหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดไม่กลับมาอุดตันอีก ซึ่งขดลวดนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีที่แล้ว และปัจจุบันได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งในไทยซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุมัติให้ใช้แล้ว
ด้าน ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า “แม้วิทยาการในการรักษาจะก้าวหน้าไปไกล เช่น การใช้ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจที่ให้ทางเลือกแก่ผู้ป่วยในการรักษาเพิ่มขึ้น แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย ซึ่งการที่เรารู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ไม่ได้หมายความว่าเราห่างไกลจากโรคหัวใจ เพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นโรคที่เกิดขึ้นช้าๆ และมักไม่ค่อยแสดงอาการแต่จะนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันและการเสียชีวิตได้”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
ศจิษฐา จงวัฒนา
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 331
โทรสาร 0-2651-9649-50--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ