มูลนิธิเอสซีจี ลงพื้นที่อยุธยา ปทุมธานี เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2012 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--มูลนิธิเอสซีจี “โรงเรียน หรือสถานศึกษา” นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศแล้ว ยามเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อุทกภัยเมื่อครั้งที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้มักได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของชุมชน หรือศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยชั่วคราว ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียน มูลนิธิเอสซีจี จึงริเริ่มโครงการ “โรงเรียนหนู...สู้ภัย” โดยเชิญชวนให้โรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม — ธันวาคม 2554 เสนอโครงการฟื้นฟูความเสียหาย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation) เล่าว่า “ที่ผ่านมา มีโรงเรียนเสนอโครงการเข้ามามากกว่า 500 โครงการ แบ่งเป็น ภาคกลาง 154 โครงการ ภาคเหนือ 112 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 98 โครงการ ภาคตะวันตก 19 โครงการ ภาคตะวันออก 23 โครงการ และภาคใต้ 121 โครงการ ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท มูลนิธิเอสซีจีจึงพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีการป้องกันภัยพิบัติอย่างยั่งยืนรวม 163 โครงการ ขณะนี้ทุกโครงการมีความคืบหน้าไปมาก และดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว” ผอ. อุดม วงษ์ทับทิม ผู้อำนวยการโรงเรียนปฐมวิทยาคาร จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการโรงเรียนหนู...สู้ภัย กล่าวว่า “แต่เดิมพื้นที่ของโรงเรียนต่ำกว่าถนนมาก ทั้งยังติดกับแม่น้ำตรงหัวโค้งพอดี ทำให้พื้นที่ส่วนนี้ถูกน้ำท่วมเป็นประจำ แต่น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 นับว่าหนักที่สุด เด็กๆ เดือดร้อนมาก โดยเฉพาะห้องน้ำ เพราะน้ำท่วมมิดไม่สามารถใช้การได้ ต้องนำสุขาลอยน้ำที่อบจ. มาวางไว้ที่โรงเรียน ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง แต่สุขาดังกล่าวไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้งานได้ถูกสุขอนามัย พอได้ทราบข่าวโครงการโรงเรียนหนู...สู้ภัย ผมจึงทำเรื่องเข้าไป และได้อนุมัติงบประมาณมาสร้างอาคารสุขายกสูงสองเมตร มีทั้งหมดแปดห้อง คาดว่าเวลาน้ำท่วมจะไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว และยังช่วยป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย” อาจารย์ภคินี โอฬารักชาติ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนงาน โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เล่าว่า เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ทักษะการใช้ชีวิตเมื่อประสบอุทกภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทางโรงเรียนจึงจัดทำ “โครงการฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น” โดยจุดเด่นอยู่ที่ฐานกิจกรรมสร้างเสริมประสบการชีวิต เช่น ฐานการว่ายน้ำ ฐานพายเรือ ฐานการทำเสื้อชูชีพจากขวดพลาสติกเปล่า ฐานการปฐมพยาบาล ฐานการปลูกพืชบนแพ และฐานการทำน้ำยากำจัดเชื้อรา ซึ่งท่านผู้อำนวยการชยุต เครือเอม มีนโยบายให้บรรจุทักษะการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน เนื่องจากมีประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง หลังจากจบโครงการดังกล่าวแล้ว น.ส.วรัญญา สะสม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการได้เขียนเรียงความว่า “ช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ต้องอยู่ศูนย์อพยพเพราะไม่สามารถกลับบ้านได้ รู้สึกเหงามาก มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำกับท้องฟ้า ตอนนั้นอยากไปนอนบนรถหกล้อกับพ่อ เพราะพ่อนอนเฝ้าบ้านอยู่ ไม่มาอยู่ที่ศูนย์อพยพ แต่พ่อบอกว่าไม่อยากให้ลำบาก ให้อยู่ศูนย์ฯ อพยพไปจนกว่าน้ำจะลดลง หลังจากน้ำลดจึงได้เข้าร่วมโครงการที่โรงเรียนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งประดิษฐ์เสื้อชูชีพ ทั้งฐานการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันอุทกภัย สอนการทำน้ำหมัก สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปลูกพืชในแพ สอนพายเรือ และยังสอนให้เราฝึกสมาธิอีกด้วย หลังจากน้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากจะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ยังได้รับความรู้หลากหลายจากการสนับสนุนของมูลนิธิเอสซีจี และก็ไม่หวั่นอีกแล้ว ถ้าหากน้ำท่วมอีก ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย และสะดวกมากยิ่งขึ้น” โครงการโรงเรียนหนู...สู้ภัย เป็นตัวอย่างของการให้ความช่วยเหลือสังคมให้ฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น และองค์กรภายนอก โดยมีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้เกิดเป็นความยั่งยืน ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า การเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอโครงการและดำเนินงานนั้น ช่วยให้หน่วยงานภายนอกสามารถให้การเยียวยาความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุด และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ