ยืนยันธุรกิจ SME ไทยรับอานิสงส์การเปิดตลาด AEC ศศินทร์แนะพัฒนาบริการรองรับผู้บริโภคไหลเข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2012 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ศศินทร์ ศศินทร์ชี้ธุรกิจ SME ไม่จำเป็นต้องลุยตลาดต่างประเทศ เตือนพัฒนาบริการเพื่อรองรับผู้บริโภคหลั่งไหลเข้าไทย เผยมีจุดเด่นที่ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก ยืนยันธุรกิจโลจิสติกส์และท่องเที่ยวรับอานิสงส์การเปิด AEC ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจในภาคบริการหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ว่า จะต้องมีการปรับตัวทั้งการบริการภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะบริการภายในประเทศที่ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย เนื่องจากธุรกิจขนาดย่อมที่ไม่มีศักยภาพในการบุกตลาดต่างประเทศ จะมีโอกาสที่ดีในการรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่คาดว่าจะไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ธุรกิจบริการต่าง ๆ มีโอกาสเติบโตโดยไม่ต้องไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถรองรับกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางจากทั่วโลกที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในอาเซียนเท่านั้นแต่กลุ่มคนดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางประเทศรู้จักภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยาฯลฯ มากกว่าประเทศไทย นั่นหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ที่ต้องพัฒนาศักยภาพด้านบริการ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์การขนส่งของภูมิภาค แต่ธุรกิจบริการท่องเที่ยวอื่น ๆ ก็จะมีโอกาสที่ดีจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย “การไหลเข้ามาของผู้บริโภคหลังจากที่เปิดเสรีในอาเซียน จะทำให้ธุรกิจ SME มีโอกาสเติบโตและสามารถสร้างผลกำไรจากการให้บริการ เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบจากเพื่อนบ้านหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร รวมทั้งจุดเด่นของอาหารการกิน เพราะขณะนี้นอกจากอาหารจีนแล้วทั่วโลกให้ความสนใจอาหารไทยมากกว่าชาติอื่น ๆ และมีแนวโน้มว่าคนรักสุขภาพจะสนใจอาหารไทยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคนไทยมีจุดเด่นด้านการบริการที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลก เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจบริการของไทยได้รับประโยชน์จาก AEC” ดร.กฤษติกากล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในอนาคตนั้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องหันมาพัฒนาด้านบริการหลังการขายให้สามารถรองรับตลาดในอาเซียน เนื่องจากการแข่งขันของตลาดทำให้สินค้าต่าง ๆ มีคุณภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้ยืดอายุการใช้งานและความถี่ในการซื้อลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องหันมาสนใจพัฒนาการให้บริการควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างจุดขายใหม่และดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อเพราะประทับใจบริการหลังการขายยอดเยี่ยม นอกจากนี้แล้วกระแสของ AEC จะมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในอนาคตนั้นทุกคนอาจต้องเปลี่ยนความรู้สึกใหม่ว่าเราไม่แค่การเป็นคนไทยเท่านั้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อให้สามารถอยู่ท่ามกลางความแตกต่างได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งก่อนหน้านี้อาจเคยชินกับบริการแต่ลูกค้าคนไทย แต่จากนี้ไปจำเป็นต้องเรียนรู้วิถีของคนอาเซียนให้มากขึ้น หากวันหนึ่งมีโอกาสไปทำธุรกิจกับเพื่อนบ้าน จะได้รู้และเข้าใจความแตกต่างด้านวัฒนธรรม รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคของชาติอื่น ๆ ในอาเซียน มิเช่นนั้นจะทำให้การทำธุรกิจในต่างแดนมีอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ