ปภ.แนะประชาชนพื้นที่ภาคใต้ ร่วมลดหมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2012 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนพื้นที่ภาคใต้ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่หมอกควันไฟป่าปกคลุม งดเว้นการเผาวัสดุทุกชนิด ไม่ประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟป่า เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หากสถานการณ์รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยและแว่นตาทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณการสูดดมควันพิษจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซียและกลุ่มควันไฟไหม้จากป่าพรุ ทำให้สถานการณ์หมอกควันในจังหวัดพัทลุง สงขลา และตรัง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และไม่มีฝนตก แม้ขณะนี้ปริมาณฝุ่นจะยังไม่เกินค่ามาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีปฏิบัติตนแก่ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหมอกควันไฟป่าปกคลุม ดังนี้ งดเว้นการเผาวัสดุทุกชนิด ระมัดระวังการประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะบริเวณแนวชายป่า เพราะจะส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันไฟป่ารุนแรงมากขึ้น ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นภูเขาสูง ไม่ขับรถเร็ว เปิดไฟหน้ารถหรือไฟตัดหมอก จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน หากทัศนวิสัยแย่มากจนมองไม่เห็นเส้นทาง ให้จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ พร้อมทั้งหมั่นติตตามสถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หากปริมาณฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ปิดประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้หมอกควันลอยเข้าสู่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูกและปาก เพื่อลดปริมาณการสูดดมควันพิษจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระบบทางเดินหายใจขัดข้อง หากมีอาการผิดปกติหลังจากสูดดมฝุ่นละอองหมอกควันให้รีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์หมอกควันสามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ