GR: ซีดีไฮโซ ภาพลับดารากับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข่าวทั่วไป Wednesday August 4, 2004 08:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี จำกัด
paiboon@gilbertereed.com
อาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้หยิบยกเรื่องการเผยแพร่ภาพลับของดารารายหนึ่งมาคุยกันและได้รับอีเมลล์สอบถามมาว่านอกจากกฎหมายอาญาเรื่องหมิ่นประมาทกับการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารแล้วมีกฎหมายฉบับอื่นหรือไม่และในต่างประเทศเค้าจัดการกับปัญหาเผยแพร่ภาพต้องห้ามเช่นกรณีซีดีไฮโซและภาพลับต่างๆอย่างไร ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจจึงหยิบยกมาคุยกันในวันนี้ต่อครับ
จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องการเผยแพร่ภาพลับของดาราหรือคนดังนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในต่างประเทศเช่นกันและเป็นเรื่องที่ศาลและนักกฎหมายต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากการเผยแพร่ภาพดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญทุกประเทศอีกด้วย ตัวอย่างเช่นคดีของนางแบบชื่อดัง คือนาโอมิ แคมเบล ซึ่งฟ้องร้องหนังสือพิมพ์รายหนึ่งของประเทศอังกฤษและขอคำสั่งศาลห้ามไม่ให้หนังสือพิมพ์ของประเทศอังกฤษตีพิมพ์ภาพของตนที่ได้รับการบำบัดการติดยาเสพติดที่ศูนย์แห่งหนึ่ง ซึ่งภาพดังกล่าวได้มาจากตากล้องสมัครเล่นรายหนึ่งที่แอบถ่ายไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตและขายให้หนังสือพิมพ์ของอังกฤษ ศาลประเทศอังกฤษมีคำพิพากษาว่าภาพถ่ายของนางสาวนาโอมิ แคมเบล เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ( sensitive data ) เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติสุขภาพหรือชื่อเสียงของนางสาวนาโอมิ แคมเบล ดังนั้น การที่หนังสือพิมพ์เผยแพร่ภาพดังกล่าว โดยปราศจากคำยินยอมโดยชัดแจ้งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือคดีของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่ห้างแฮร็อด ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์อังกฤษและยามที่รักษาความปลอดภัย ที่นำภาพถ่ายของเจ้าหญิงไดอาน่าและบุตรชายของห้างดังก่อนเกิดอุบัติเหตุเพียง 3 ชั่วโมงมาเผยแพร่ผ่านทางหนังสือพิมพ์ (คดี Hyde Pork v. Yelland-2000) และแม้แต่กรณีของนักฟุตบอลชื่อดัง อย่าง เดวิด เบคแฮม ที่ฟ้องร้องห้ามมิให้หนังสือพิมพ์อังกฤษเผยแพร่ภาพถ่ายบ้านพักของตน ซึ่งศาลประเทศอังกฤษก็มีคำวินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า การที่ช่างภาพหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดถ่ายภาพของบุคคล โดยบันทึกพฤติกรรมส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของอังกฤษ จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลประเทศอังกฤษได้ตีความการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างกว้าง ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าของข้อมูลดังกล่าว
จากคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพิ้นฐานที่ต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดาราหรือผู้เสียหายทุกคนทั้งในกรณีซีดีไฮโซหรือภาพลับดาราที่เป็นข่าวสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลหรือสื่อทุกประเภทที่เผยแพร่ภาพลับของตนได้โดยทันที หรืออาจขอคุ้มครองชั่วคราวระงับการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ได้ทันทีก่อนหนังสือพิมพ์จะถูกวางขายในท้องตลาด แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวี่แววว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะออกมาเมื่อไหร่และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงข้อถกเถียงของนักกฎหมายบางกลุ่มที่ว่ากฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีหรือไม่ หรือมีนักกฎหมายบางท่านถึงกับหยิบยกว่าจริงๆแล้วกฎหมายฉบับนี้อาจไม่จำเป็นต้องมี หากมีข้อพิพาทแบบที่เป็นข่าวก็ให้ใช้กฎหมายละเมิดฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายหรือหากเป็นกรณีภาครัฐเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเอกชนก็ให้ไปใช้ พรบ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการแทน ซึ่งเป็นสภาพที่น่าเป็นห่วงอย่างมากครับ เพราะในความเป็นจริงนั้น ปํญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมีอยู่ทุกวันในเมืองไทยครับไม่ว่าจะเป็น การแอบถ่ายภาพโดยใช้กล้องหรือโทรศัพท์มือถือ การตัดต่อแอบถ่ายภาพคนดัง การดักฟังโทรศัพท์ การลักลอบดูอีเมลล์ การใช้กล้องซีซีทีวีถ่ายในลิพท์ การติดไมโครโฟนดักฟังการประชุม ฯลฯ และเป็นสิ่งที่เกิดกับคนไทยมานานแล้วจนเรารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่และมักจะปล่อยปละละเลยโดยใช้วัฒนธรรม คำว่า”ไม่เป็นไร” มาปรับใช้อย่างไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวทั้งหมดที่ผมร่ายมาทั้งหมดก็เพื่ออยากกระตุ้นให้รัฐบาลในฐานะองค์กรที่บริหารประเทศเร่งประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเร็วครับ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ