“บริติช เคานซิล” เจียระไนสุดยอดผู้ประกอบการคลื่นลูกใหม่ ประดับวงการแฟชั่นไทย

ข่าวทั่วไป Thursday September 6, 2012 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--พริสไพออริตี้ เพราะอยากเห็นสังคมไทยก้าวไกลในสังคมแฟชั่นโลก ล่าสุด บริติช เคานซิล นำโดย มร.ไซม่อน ฟาร์เลย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก นำโดย หม่อมหลวงคฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัด “โครงการผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์รุ่นใหม่ด้านแฟชั่น ประจำปี 2555” (Young Creative Entrepreneur (YCE) Fashion Award 2012) ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความความคิดสร้างสรรค์ รู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก่อให้เกิดพลังผลักดันสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในชุมชนของผู้ประกอบการและในเวทีโลก ซึ่งมีผู้สมัครทั้งสิ้น 23 ราย และผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจำนวน 6 ราย และผลปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศตกเป็นของสาวรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง พิมพ์ณัฐชยา ลิปตวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ DusktillDawn รับรางวัลเป็นทุนไปทัศนศึกษาวงการแฟชั่นของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และมีโอกาสสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนจากสหราชอาณาจักร ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติในแวดวงต่างๆ ร่วมยินดี ณ ชั้น 6 สยามดิสคัฟเวอรี่ มร.ไซม่อน ฟาร์เลย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ YCE เริ่มเกิดขึ้นในปี 2549 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 400 ราย จาก 53 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ และพัฒนาเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อร่วมงานกับกลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบการจากชาติอื่นๆ โดยในปีนี้ บริติช เคานซิล ประเทศไทย และกรมส่งเสริมการส่งออก เน้นการเฟ้นหาผู้ประกอบการไทยจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ สิ่งทอ เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า การวิจัยผลิตภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ โดยใช้เวลาคัดเลือก 4 สัปดาห์ จากผู้สมัคร 23 ราย โดยมีผู้เข้ารอบจำนวน 6 ราย ซึ่งพิจารณาจากเนื้อหาในใบสมัคร และตัวอย่างงานที่ แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและความสามารถการเป็นผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่เข้ารอบสุดท้าย 6 ทีม ได้แก่ เอก ทองประเสริฐ (Ek Thongprasert และ Curated by Ek Thongprasert), ภัณฑิรา พรหมฟัง (Madame Flamingo), พิมพ์ณัฐชยา ลิปตวัฒน์ (DusktillDawn), สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ (Rubber Killer), สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง (Timo Trunks) และ ฑีฆาวัฒน์ ปัทมาคม (URFACE)” “หนึ่งในขั้นตอนการคัดเลือก คือ ผู้สมัครทั้ง 6 ทีมจะต้องนำเสนอผลงานของตนในบริบทของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยต่อหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสิน และตอบคำถามที่เกี่ยวกับความสามารถในการประกอบกิจการ ความเป็นผู้นำ ความรอบรู้เกี่ยวกับตลาด นวัตกรรม และความสามารถในการสร้างเครือข่ายกับสหราชอาราจักรและทั่วโลก โดยคณะกรรมการผู้ทำการตัดสินประกอบด้วย หม่อมหลวงคฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก, ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร art4d , มร.เจสัน รันโฮล์ม ผู้อำนวยการด้านแฟชั่น นิตยสาร 2Magazine, ลินน์ วิสุทธารมณ์ บรรณาธิการนิตยสาร 2Magazine และ มร.ไซม่อน ฟาร์เลย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย” โดยผลปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศตกเป็นของ พิมพ์ณัฐชยา ลิปตวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ DusktillDawn ซึ่งออกแบบและผลิตเสื้อผ้า ทั้งชาย และหญิง โดยผสานเอา นวัตกรรม และความรู้เชิงทฤษฎี มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ แต่สวมใส่ได้จริง ได้รับทุนไปทัศนศึกษาวงการแฟชั่นของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปยังสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 12-20 กันยายนศกนี้ สมทบกับผู้ชนะจากประเทศอื่นๆอีก 21 ประเทศ ซึ่งมาจากอเมริกา เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลางและอัฟริกา เพื่อศึกษาวงการแฟชั่นในอังกฤษและแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนร่วมวงการทั้งจากสหราชอาณาจักรและจากทั่วโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุน และเข้าร่วมงานลอนดอนแฟชั่นวีค 2012 ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สร้างความสัมพันธ์กับมืออาชีพทั่วโลกและสานขยายธุรกิจในอนาคต พิมพ์ณัฐชยา ลิปตวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ DusktillDawn เผยว่า “การได้รางวัลชนะเลิศนับว่าเป็นเกียรติกับเรามาก อันดับแรกก่อนคือเราทำผลงานออกมาแล้วมีคนเห็น คนให้ความสนใจ และให้โอกาสเราสามารถต่อยอดต่อไปได้ โครงการนี้มีประโยขน์มาก เพราะสอนให้มองลึกลงไปในการทำธุรกิจ มากกว่ามองแค่เรื่องการออกแบบเท่านั้น เราต้องมีความรู้ทางด้านการตลาด การบริหารธุรกิจ ประกอบกันด้วย เราจะต้องสรุปตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรมาบ้าง เราผ่านอะไรมาบ้าง ทำให้เราได้มองเห็นในข้อผิดพลาดของธุรกิจตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าหลังจากนี้ในทุกๆปี เราจะต้องมองย้อนกลับไปมองข้อดีข้อเสียของเรา เพื่อนำมาปรับปรุงให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้นั่นเอง” ผู้ชนะเลิศกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ