ความต้องการเครื่องบินเพิ่มสูงถึงกว่า 28,000 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้า

ข่าวท่องเที่ยว Friday September 7, 2012 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--โทเทิ่ล ควอลิตี้ พีอาร์ เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์มากกว่า 10,000 ลำจะถูกแทนด้วยเครื่องบินโฉมใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง การพยากรณ์ทางการตลาดโลกหรือ โกลบอล มาร์เก็ต ฟอร์คาสต์ (GMF) ล่าสุดจากแอร์บัส รายงานว่าระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2574 จะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์และเครื่องบินขนส่ง (เท่ากับหรือมากกว่า 100 ที่นั่ง) ถึงกว่า 28,200 ลำ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนดังกล่าวเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมสูงกว่า 27,350 ลำ มูลค่าถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอกย้ำแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งมอบเครื่องบินใหม่ คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยเครื่องบินกว่า 10,350 ลำจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบินใหม่ประสิทธิภาพสูงและภายในปี พ.ศ. 2574 เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ทั่วโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 110 จากกว่า 15,550 ลำในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 32,550 ลำ ขณะที่จำนวนเครื่องบินขนส่งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1,600 ลำเป็น 3,000 ลำ ภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่จะส่งผลมากกว่าครึ่งต่ออัตราการเติบโตของปริมาณการเดินทางทางอากาศทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองและกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกถึง 5 พันล้านคนยังเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตอีกด้วย นอกจากนี้ภายในปี พ.ศ. 2574 การเดินทางทางอากาศของบรรดาเมืองใหญ่จะมากถึงร้อยละ 92 และคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของการเดินทางทางอากาศทั่วโลก “นอกจากอัตรการเดินทางทางอากาศนานาชาติจะขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ภายในปี พ.ศ. 2574 การเดินทางภายในประเทศจะมีความนิยมอย่างสูง โดย 4 แหล่งใหญ่ที่มีการไหลเวียนด้านการจราจรทางอากาศมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จีน ประเทศในยุโรปตะวันตกและอินเดีย ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของการเดินทางทั่วโลก” มร. จอห์น เลฮีย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการลูกค้าสัมพันธ์แอร์บัส กล่าวพร้อมเสริม “เราคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราเติบโตของการเดินทางโดยสารทางอากาศภายในประเทศจีนจะแซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นรั้งอันดับหนึ่งประเทศที่มีอัตราการเดินทางสูงที่สุด อุตสาหกรรมการบินไม่เพียงมีความจำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศเท่านั้นแต่ยังมีความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย” ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการเครื่องบินสูงถึงร้อยละ 35 ของปริมาณการส่งมอบเครื่องบินใหม่ทั้งหมด ตามมาด้วยยุโรปและอเมริกาเหนือในอัตราส่วนร้อยละ 21 หากมองในแง่มูลค่าแล้วประเทศตลาดการบินใหญ่ที่สุด คือ จีน ตามด้วย สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดีย นอกจากนั้น ภายในปี พ.ศ. 2574 ความต้องเครื่องบินขนาดใหญ่มาก (VLA: Very Large Aircraft ซึ่งมีที่นั่งเท่ากับหรือมากกว่า 400 ที่นั่ง) อย่าง เอ380 จะเพิ่มขึ้นกว่า 1,700 ลำ คิดเป็นมูลค่าถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนั้นเป็นเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์จำนวนกว่า 1,330 ลำ มูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 13 ของมูลค่าในการขนส่งผู้โดยสารและร้อยละ 5 ของจำนวนเครื่องบิน) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการเครื่องบินพิกัดการบรรทุกสูงนี้มากที่สุดถึงร้อยละ 46 ตามมาด้วยตะวันออกกลาง ร้อยละ 23และยุโรป ร้อยละ 19 ในส่วนของเครื่องบินทางเดินคู่ ( 250 - 400 ที่นั่ง) เช่น เอ330 และเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ทั้งแบบโดยสารและแบบขนส่งสินค้า จะมีความต้องการถึงกว่า 6,970 ลำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ จำนวน 6,500 ลำ มูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 44 ของมูลค่าในการขนส่งผู้โดยสารและร้อยละ 24 ของจำนวนเครื่องบิน) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมากที่สุดถึงร้อยละ 46 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 17 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 13 20 ปีข้างหน้า มีความต้องการเครื่องบินทางเดินเดี่ยวถึงกว่า 19,500 ลำ มูลค่ามากกว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 43 ของมูลค่าในการขนส่งผู้โดยสารและร้อยละ 71 ของจำนวนเครื่องบิน) ซึ่ง 3 ภูมิภาคที่มีความต้องการเครื่องบินดังกล่าวมากที่สุด คือ เอเชีย-แปซิฟิก ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ ร้อยละ 25 และยุโรป ร้อยละ 22 โดยร้อยละ 30 ของปริมาณการส่งมอบเครื่องบินประเภทนี้ทั้งหมดจะอยู่ที่สายการบินต้นทุนต่ำ ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ เมธาวรินทร์ มณีกูลพันธ์/ ธัญธิดา ธรรมครูปัตย์ + 66 2 260 5820 ต่อ 115/ 120 แอร์บัสนำเสนอแอพพลิเคชั่น GMF เป็นครั้งแรกพร้อมเปิดให้คุณดาวน์โหลดผ่านทาง App Store ได้แล้ววันนี้ ขณะที่การรายงานความคืบหน้าต่างๆสามารถติดตามทาง www.airbus.com ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับนักกระจายเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์ วีดีโอเพิ่มเติมโปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.airbus.com/broadcastroom บทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษของมร. จอห์น เลฮีย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการลูกค้าสัมพันธ์แอร์บัส

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ