ศศินทร์แนะธุรกิจไทยปรับกลยุทธ์บริหารแรงงานรับเปิดAEC เผยแนวทางทำงานร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างด้านวัฒนธรรม-ความเชื่อ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 11, 2012 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ศศินทร์ นักวิชาการจากศศินทร์แนะกลยุทธ์การบริหารงานบุคคลท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม ชี้ต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แรงงาน ย้ำการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งไม่เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อย คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ความแตกต่างไม่แตกแยก ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การบริหารธุรกิจในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากรไม่น้อยไปกว่ากลยุทธ์อื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งนักลงทุนในบ้านเราที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ ซึ่งจะต้องเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแรงงานแต่ละชาติ ดังนั้น การบริหารงานบุคคลในช่วงที่มีการเปิดเสรีอาชีพต่าง ๆ ภาคธุรกิจต้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น จากที่ให้ความสำคัญกับนโยบายและวัฒนธรรมขององค์กรแบบเดิม ๆ ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเรียนรู้ความลึกซึ้งถึงจิตใจของเพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบริหารงานบุคคลท่ามกลางความหลากหลายวัฒนธรรมและมีความแตกต่างด้านความเชื่อ จะต้องให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกัน มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความล้มเหลวและเกิดปัญหาในการทำงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและสร้างความเสียหายร้ายแรง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีพนักงานจำนวนมากและมีความเชื่อหรือนับถือศาสนาต่างกัน การออกกฎและระเบียบต่าง ๆ ต้องระมัดระวังมิให้เกิดความขัดแย้งจากความเชื่อของแต่ละบุคคล “เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ จึงได้จัดงานสัมมนา “โค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้ สู้ Free Flow of HR” เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อรับมือกับการอนุญาตให้แรงงานสามารถทำงานในแต่ละประเทศได้อย่างเสรี ซึ่งองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับนโยบายรวมถึงกฎเกณฑ์ในการบริการบุคคลให้สอดคล้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันก็ตาม” ดร.กฤษติกาให้ความเห็นและกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานท่ามกลางความแตกต่างของวัฒนธรรมได้อย่างราบรื่นก็คือ การปรับโครงสร้างวัฒนธรรมขององค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับสถานการณ์ต่าง ๆ สำคัญจะต้องปลูกฝังให้ทุกคนมีความรัก สามัคคี และมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้แล้ว การบริหารงานบุคคลของธุรกิจที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจำเป็นต้องมีความเป็นธรรม ไม่ควรคิดว่าชาติไหน เด่นกว่าหรือประเทศไหนด้อยกว่า ทุกคนที่มาอยู่รวมกันต้องมีความเสมอภาค แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น อาหารการกิน จะต้องไม่เปรียบเทียบว่าอาหารไทยอร่อยกว่า หรือวัฒนธรรมและความเชื่อของเราดีกว่า จะต้องระมัดระวังและตระหนักว่าเราก็ไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าเราด้อยกว่า แม้ว่าทุกชาติในอาเซียนจะชื่นชอบสินค้าของไทยเนื่องจากมีคุณภาพที่ดี แต่อาจจะเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งหากไปกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์เขาด้อยกว่าเรา เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งด้านความรู้สึกจะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดที่กระทบต่อจิตใจ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาบานปลายและรุนแรงขึ้นได้ เพราะเรื่องของศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเหยียดหยามกันได้ ดร.กฤษติกากล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารงานบุคคลท่ามกลางความแตกต่างของเชื้อชาติและศาสนา ไม่ใช่แค่การระมัดระวังเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อเท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินได้อย่างบูรณาการก็คือ ปัจจัยที่จะดึงดูดให้แรงงานเลือกและทำงานอยู่กับองค์กรให้นานที่สุด แน่นอนว่าแรงงานข้ามชาติรวมทั้งคนไทยด้วยกันเอง ต้องการทำงานกับองค์กรที่มีชื่อเสียงและรู้สึกถึงความมั่นคงในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องสร้างภาพลักษณ์และสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้แล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านความรู้ รวมถึงการเปิดโอกาสเพื่อให้ทุกคนแสดงศักยภาพ รวมทั้งการเพิ่มทักษะและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งชอบความท้าทายและต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน ที่สำคัญระดับผู้บริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี และสามารถทำให้บรรยากาศการทำงานมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับองค์กรอื่น ๆ ในท้องถิ่นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ