สมิติเวช ร่วมประชุมเชิงวิชาการเตือน 3 โรคของคนอยากสวย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 12, 2012 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--โรงพยาบาลสมิติเวช ประชุมวิชาการ รพ.เอกชนชั้นนำของประเทศปี 5 แพทย์ห่วงโรคคลั่งผอมระบาดเงียบในไทย ชู "Anorexia Nervora" และ "Bulimia" เป็นโรคควรเฝ้าระวัง แนะวัยรุ่นไทยควรภูมิใจในรูปร่างตัวเอง ขณะปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อในวัยรุ่น ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน โดย 1 ใน 5 ของเด็กไทยพบเป็นโรคเท้าแบนและเท้าแบะ ส่งผลต่อบุคลิกภาพตอนโต หากไม่แก้ไขแต่เนิ่น ๆ กลับมาอีกครั้งกับงานประชุมเชิงวิชาการประจำปี ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มโ รงพยาบาลกรุงเทพ" "กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช" "โรงพยาบาลบีเอ็นเอช" "โรงพยาบาลเปาโล" และ "โรงพยาบาลพญาไท" โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่เหล่าแพทย์ได้มาพบปะประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และอัพเดทความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ผ่านการบรรยายเชิงวิชาการที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งแต่ละหัวข้อล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาผู้ป่วย ส่วนหัวข้อที่น่าสนใจได้แก่ "Too Thin or Too Fat" หรือ"โรคคลั่งผอม" โดยแพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ พญ.จิราภรณ์ แจงว่า ปัจจุบันวัยรุ่นที่ไม่พึงใจในรูปร่างของตนเองจนกลายเป็นคนป่วยนั้น มีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหามาจากเหล่าดารานางแบบที่เป็นไอดอล มักปรากฏตัวผ่านสื่อด้วยหุ่นเพรียวลม เยาวชนจึงพยายามสารพัดวิธีเพื่อลดน้ำหนักให้มีเรือนร่างบอบบาง "นอกจากปรึกษาแพทย์หรือออกกำลังกายแล้ว บางคนถึงกับยอมทรมานอดอาหารจนร่างกายปฏิเสธอาหารทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุของโรคกลัวอ้วน Anorexia Nervora กับ Bulimia สองโรคอันตรายของคนอยากสวย " กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุ พญ.จิราภรณ์ กล่าวถึงอันตรายของโรค Anorexia Nervora ไว้ด้วยว่า โรคดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความกดดันทางวัฒนธรรม และไม่พึงพอใจในรูปร่างของตัวเอง เนื่องจากในสังคมมีค่านิยมความผอม มองว่าคนหุ่นดีเท่านั้นที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งค่านิยมที่ว่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวที่เคร่งครัดจนเกินไป จะทำให้สมาชิกในครอบครัวขาดความเป็นอิสระ พฤติกรรมการแสดงออกของคนกลุ่มนี้จึงปฏิเสธที่จะกินอาหารในที่สาธารณะ รู้สึกผิดทุกครั้งเมื่อกินอาหาร คำนวณแคลอรี่อาหารที่กิน เริ่มอดอาหารบางมื้อ ตัดหรือหั่นอาหารให้มีชิ้นเล็ก ฝืนออกกำลังกายอย่างหนักแม้ว่าจะรู้สึกอ่อนล้า "อาการของโรคคือประจำเดือนขาด ขี้หนาวมีขนตามร่างกายมากขึ้น ชอบชั่งน้ำหนักตัวบ่อยเพราะวิตกกังวล เลือกกินหรือพยายามกินให้น้อยที่สุด หมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกายจนน้ำหนักตัวลดฮวบฮาบ เมื่อพบอาการป่วย แพทย์จะใช้การทำจิตบำบัด และครอบครัวบำบัด โดยพ่อแม่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถ้ามีอาการรุนแรงแพทย์อาจจะให้ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยาช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร รวมถึงพฤติกรรมบำบัดเพื่อปรับทัศนคติของคนไข้ใหม่ว่าคุณค่าของตนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างที่ผอมบางเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ความสามารถ ความดีงาม เป็นต้น" แพทย์หญิงจาก รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ แจงรายละเอียดอาการผู้ป่วยให้ผู้ปกครองไว้คอยตรวจสอบบุตรหลานก่อนจะสายเกินแก้ พญ.จิราภรณ์ กล่าวต่อถึงภัยของโรคอยากสวยว่า ขณะที่โรค Bulimia เป็นโรคในกลุ่มของอาการผิดปกติในการกิน Eating Disoder ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่นหญิง สาเหตุหลักเกิดจากค่านิยมเรื่องความอ้วนความผอมเป็นสำคัญ ที่สำคัญคือแม่ที่เป็น Bulimia มีโอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมไปถึงลูกสาว "อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักอยากกินอาหารในทันทีแบบที่บังคับตัวเองไม่ได้ ทำให้กินมากเกินไป จึงต้องพึ่งยาถ่ายหรือล้วงคอให้อาเจียนหลังมื้ออาหารเพราะกลัวอ้วน พฤติกรรมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ความดันโลหิตต่ำ ประจำเดือนขาด เกิดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งการใช้ยาระบายเป็นประจำส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับไต กระเพาะปัสสาวะ ร่างกายขาดน้ำ และเกิดความผิดปกติต่อระบบการไหลเวียนของเลือด การรักษาด้วยตัวเองจึงไม่ค่อยได้ผลเพราะขาดการยอมรับเรื่องความผิดปกติในการกิน ต้องอาศัยคนใกล้ชิดดูแลและสร้างแรงจูงใจ” จากการสอบถาม พญ.จิราภรณ์ เพิ่มเติมยังทำให้ทราบด้วยว่า Anorexia Nervora กับ Bulimia สองโรคอันตราย กำลังระบาดอย่างเงียบๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เติบโตในสังคมเมือง ที่มีทัศนคติว่าผู้หญิงที่สวยน่ารักจะต้องมีรูปร่างผอมบางเท่านั้น ส่วนการรักษาที่ดีที่สุดคุณหมอแนะนำว่า คือการชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่วัยรุ่นกำลังปฏิบัติอยู่นั้น ก่อให้เกิดปัญหาในชีวิตมากมาย ที่สำคัญที่เด็ก ๆ กำลังทำลายตัวเองด้วยการปล่อยให้สังคมมาบงการชีวิต นอกจากโรคคลั่งไคล้ความผอม ในที่ประชุมเชิงวิชาการประจำปี 2555 ยังได้หยิบเอาเรื่อง "ปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อในวัยรุ่น” มาเป็นหัวข้อสำคัญในการบรรยาย และได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ทั้งนี้ แม้ปัญหาดังกล่าวอาจดูไม่ร้ายแรงเท่าโรคกลัวอ้วน แต่เมื่อโครงสร้างกระดูกและข้อผิดปกติมักจะปรากฏจัดเจนในช่วงวัยรุ่น ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่พึงใจในรูปร่าง โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนถึงกับเครียดและกังวลแทนลูก เนื่องจากต้องการปั้นลูกให้เป็นนักกีฬาอาชีพ ผศ.นพ.วิศาล คันธารัตนกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อในวัยรุ่นที่พบมากที่สุดคือเท้าแบนและเท้าแบะ โดย 1 ใน 5 ของวัยรุ่นจะเป็นโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีภาวะผิดปกติที่กระดูกสันหลัง อาทิ หลังคด หลังค่อม คอเอียง ข่าโก่ง ร่วมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคมไม่น้อย "ภาวะเท้าผิดรูปที่พบบ่อยอย่างเท้าแบนหรือเท้าแบะ ถ้าในผู้ใหญ่ผมจะแนะนำให้เสริมพื้นรองเท้า แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กถ้าพบตั้งแต่เนิ่นๆคือ 4-5 ขวบผมจะให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองว่าเขาสามารถกลับมาเป็นปกติได้หากมีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง มีการยืดเหยียดเส้นเอ็นอย่างสม่ำเสมอหรือเสริมพื้นรองเท้า แต่ถ้าเลยจาก 7 ขวบขึ้นไปโอกาสที่จะกลับเป็นปกติยากเพราะโครงสร้างต่างๆ คงที่แล้ว หรือถ้ามาพบแพทย์เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้ ส่วนใหญ่ต้องเสริมพื้นพร้อมกับใช้รองเท้าแบบพิเศษ เนื่องจากสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือภาวะกระดูกเอียงและเท ที่จะมีอาการกระดูกจะเลื่อนตาม แต่กว่าจะรู้ว่าอาการแย่ก็อาจสายเกินไปเพราะอาการปวดจะไปสำแดงเอาตอนอายุ 40 ปี เราพบเจอโรคในฐานะหมอจึงต้องเตือนคนไข้ล่วงหน้าครับ" หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการหัดสังเกตอาการของโรคและการรีบเข้าพบแพทย์เมื่อรู้ว่าป่วยผศ.นพ.วิศาล กล่าวต่อว่า ส่วนอาการเท้าโก่งที่พบได้บ่อยนั้น โดยมากมักพัฒนาหายเป็นปกติได้เอง แต่ใน กลุ่มที่ไม่หายนั้นสันนิษฐานว่ายังนั่งแบบเท้าแบะแบบ W Shape Setting เหมือนเดิม จนทำให้เส้นเอ็นหย่อนและกลายเป็นผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดโครงสร้างก็ไม่คืนสู่สภาพปกติ"เด็กกลุ่มนี้จะมีส่วนหนึ่งที่เกิดโรครุนแรงตามมา โดยเฉพาะเท้าแบะแบบเดินเท้าชี้เข้าใน ถ้าอาการดังกล่าวเกิดความปกติจากสะโพก เช่น ปวดสะโพก มักจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นถ้าผู้ปกครองที่มีบุตรเท้าโก่งเข้าด้านใน หรือเดินปลายเท้าชี้เข้าด้านใน เมื่ออายุ 4-5 ขวบ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกาย ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรพามาพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ดูว่าเกิดโรคบางอย่างในสะโพกหรือไม่" หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ยังแจงต่อถึงกลุ่มหลังคดและคอเอียงเพิ่มด้วยว่า โรคดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยเพศเพศหญิงและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เอง แต่อาจไม่หายขาด ดังนั้นการติดตามอย่างใกล้ชิดจึงมีสำคัญ โดยเฉพาะผู้ปกครองก็ต้องหมั่นสังเกตการพัฒนาโครงสร้างของลูกด้วยตนเอง พร้อมให้ผู้ป่วยบริหารร่างกายเพื่อยืดเหยียดเส้นเอ็นด้วย "เราต้องการแก้ไขตั้งแต่เริ่มเป็นโรค โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งหลังคลอดคุณแม่ต้องสังเกตและหมั่นทำการยืดเหยียดให้ลูกด้วยท่าที่ถูกต้องขณะที่บางคนก็อาจมาเป็นตอนโตได้ โดยเป็นผลมาจากอาการไซนัสเรื้อรัง หูอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อเรื้อรังในหู ก็อาจจะนำไปสู่การคอเอียงได้เช่นกัน” อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวถึงภาพรวมของการจัดประชุมเชิงวิชาการของกรุงเทพดุสิตเวชการ ประจำปี 2555 ครั้งนี้ไว้ว่า ปีนี้ทีมแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลสมิติเวช ได้ร่วมบรรยาย และได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเด็กทางอากาศ, การดูแลโครงสร้างทางร่างกายที่ผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็กวัยรุ่น เช่น หลังคด คอเอียง, โรคกลัวอ้วน, โรคคลั่งไคล้ความผอม ด้านเวชศาสตร์การกีฬา และภาวะการมีบุตรยาก เป็นต้น "นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผ่าตัดหัวใจเด็กที่พิการมาแต่กำเนิด ที่โรงพยาบาลสมิติเวชได้ตั้งกองทุนสมิตเวชเพื่อชีวิตใหม่หัวใจเด็ก ไว้ผ่าตัดเด็กยากไร้ป่วยเป็นโรคหัวใจ 60 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเพื่อเฉลิมฉลอง 9 ปี โรงพยาบาลเด็กในเดือนพฤศจิกายนนี้” พญ.สุรางคณา รอง ผอ.รพ.สมติเวช ศรีนครินทร์ สรุป
แท็ก สมิติเวช  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ