ส.อ.ท. — สอศ. จับมือแก้วิกฤติแรงงาน เร่งผลักดันบุคคลากรระดับอาชีวศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday September 26, 2012 17:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “สถานประกอบการ พบ สถานศึกษา” เพื่อจัดกลุ่มการรับนักศึกษาฝึกงาน และทวิภาคี เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยพณิชยการบางนา ถ.บางนา-ตราด กม.1 โดยได้รับเกียรติจาก เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และรองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมงานดังกล่าว นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษา เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อให้การผลิตและการพัฒนากำลังคนเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมกับส่งเสริมบุคคลากรในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น อีกทั้งยังเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ในการทำงานจริง มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และในขณะเดียวกันยังทำให้สถานประกอบการได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สภาอุตสาหกรรมฯ และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงได้มีการลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาบุคลากรระดับอาชีวศึกษา” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีการพัฒนาบุคลากรระดับอาชีวศึกษา ในรูปแบบของการส่งเสริมการรับนักศึกษาฝึกงานและทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรม และมีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษาและสถานประกอบการมากขึ้น โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี ของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งใช้ชื่อโครงการว่า “โรงงาน — โรงเรียน” เป็นแนวทางปฏิบัติ “เพื่อให้ทราบถึงจำนวนความต้องการนักศึกษาที่ชัดเจน สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ดำเนินการสำรวจความต้องการกำลังคนระดับอาชีวศึกษา จาก 97 บริษัทขึ้น และพบว่าผู้ประกอบการยังมีความต้องการกำลังคนสูงถึง 5,382 คน โดยสาขาที่มีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สาขาช่างเชื่อม สาขาเครื่องกล และสาขาไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ ตามลำดับ” นายถาวร กล่าว นายถาวร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางในการปฏิบัติของสถานประกอบการที่ต้องการรับนักศึกษาฝึกงาน คือ สถานประกอบการต้องสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยง 200 บาท / วัน สนับสนุนค่าอาหารกลางวัน 1,500 บาท / เดือน ค่าที่พัก 1,500 บาท / เดือน จัดทำประกันอุบัติเหตุ จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล จัดกิจกรรมให้ความรู้นักศึกษาในหัวข้อที่จำเป็น และสวัวดิการอื่นๆ ที่สถานประกอบการเห็นสมควร ส่วนนักศึกษาทวิภาคีจะมีมาตรฐานในการรับ คือ ต้องเป็นนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ที่จะศึกษาต่อในระดับ ปวส. เป็นเวลา 2 ปี โดยต้องทำงานไปด้วย และเป็นพนักงานฝึกหัดด้วย โดยพนักงานฝึกหัดจะได้รับประสบการณ์ทำงานตรงจากที่ทำงาน ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการระหว่างปฏิบัติงาน โดยมีสภาพการจ้างงาน เป็นพนักงานรับเหมาช่วงสัญญา 2 ปี และสามารถทำงานล่วงเวลาได้ มีการเรียนการสอนในโรงงาน 1 วัน / 1 สัปดาห์ (ทุกวันอาทิตย์) และเมื่อจบการศึกษาระดับ ปวส. แล้ว พนักงงานฝึกหัดจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ส่วนในเรื่องค่าตอบแทน นักศึกษาทวิภาคี จะได้รับเงินเดือน 9,000 บาท / เดือน ค่าอาหารกลางวัน 1,000 — 1,500 บาท / เดือน ชุดพนักงาน อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล โบนัส ประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ ที่เท่าเทียมกับพนักงานบริษัท รวมถึงยังจะได้รับเงินช่วยเหลือและสนับสนุนจากบริษัท รวมทั้งสิ้น 14,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากจังหวัดบ้านเกิดถึงที่พักที่บริษัทจัดหาให้ ค่าเทอม ค่าที่พัก และค่าเดินทางของอาจารย์มาสอนที่บริษัท เป็นต้น สำหรับกิจกรรม “สถานประกอบการ พบ สถานศึกษา” เพื่อจัดกลุ่มการรับนักศึกษาฝึกงาน และทวิภาคี ในครั้งนี้ เป็นการจัดกลุ่มระหว่างสถานประกอบการ กับ สถานศึกษา โดยมีการจำแนกตามสาขาวิชา และให้สถานประกอบการที่มีความต้องการนักศึกษา และสถานศึกษาที่เข้าร่วม ได้เจรจากันถึงเรื่องความต้องการของแต่ละฝ่าย เพื่อนำไปสู่การจัดหากำลังคนที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของสถานประกอบการต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ