สธ.เผยน้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่มีโรคระบาด มั่นใจระบบเฝ้าระวัง SRRT ช่วยป้องกันได้

ข่าวทั่วไป Monday October 1, 2012 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กรมควบคุมโรค สธ.เผย!!น้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่พบรายงานการเกิดโรคระบาดแม้แต่รายเดียว ข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยสำนักสาธารณสุขฉุกเฉินสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด ณ วันที่ 26 กันยายน 2555 ยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัดได้แก่ จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรีและนครปฐม รวม 31 อำเภอ 231 ตำบล 1,333 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 63,035 ครัวเรือนรวม 157,047 คน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าสรุปผลกระทบในภาพรวมจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย สาเหตุจากไฟฟ้าดูด 1 ราย จมน้ำ 5 ราย และไม่ระบุสาเหตุ 3 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 44 รายส่วนใหญ่ถูกของมีคมบาด ตะปูตำ หกล้ม เท้าบวม และมีบางส่วนที่ไม่ระบุสาเหตุ ส่วนปัญหาเรื่องโรคและการเจ็บป่วยของผู้ประสบภัย จากข้อมูลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รวม 113 หน่วย ให้บริการผู้ประสบภัย 121 ครั้ง มีผู้ป่วยมารับบริการรวม 26,857 ราย โรคที่พบบ่อยสุดคือปวดศีรษะ 13,028 ราย รองลงมาคือน้ำกัดเท้า 7,383 ราย ตามด้วยไข้หวัด 2,952 ราย และป่วยด้วยอาการอื่นๆ 3,494 ราย ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 251 ราย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 419 ราย ส่วนปัญหาสุขภาพจิตจากการตรวจคัดกรองประชาชนจำนวน 5,073 ราย พบว่าประชาชนมีความเครียดในระดับสูงถึง 111 ราย ซึมเศร้า 37 ราย และมี 38 รายที่ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ ส่วนรายงานการเกิดโรคระบาด และนับเป็นเรื่องที่ดีที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาดแม้แต่รายเดียว สำหรับจังหวัดปราจีนบุรีนั้น เนื่องจากได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ 2 เขตเทศบาล 36 ตำบล 256 หมู่บ้าน 24 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,441 ครัวเรือน 19,835 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ถนน 199 สาย สะพาน 6 แห่ง วัด 28 แห่ง โรงเรียน 27แห่ง รวมทั้งพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ได้แก่นาข้าว 67,579 ไร่ พืชไร่ 2,679 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,734 ไร่ และยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองปราจีนบุรี และอ.บ้านสร้าง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการเจ็บป่วยในพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และยังได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามความพร้อมของระบบการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันควบคุมโรคระบาดจากสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ด้านดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวในขณะลงพื้นที่จังหวัดปราจีนเพื่อตรวจเยี่ยม นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมและติดตามการทำงานของทีมSRRTหรือ“ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว”ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาดขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการทำงานที่เข้มแข็งของทีมSRRTในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ ด้วยระบบเฝ้าระวังและสอบสวนโรคในสถานการณ์น้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรการของแต่ละพื้นที่ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายระดับจังหวัด เขต และส่วนกลาง สำหรับแนวทางการทำงานของทีม SRRT นั้น อธิบดีกรมควบคุมโรคอธิบายว่าจะมีบุคคลซึ่งอาจเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ หรือบุคคลใดก็ตามที่ปฏิบัติงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆมาอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ เพื่อติดต่อสื่อสารและแจ้งให้กับทีม SRRT ทราบทันทีที่พบเห็นหรือทราบว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติทางสาธารณสุขเกิดขึ้น ซึ่งมี 5 เหตุการณ์หลัก ได้แก่ 1.มีผู้ป่วยกลุ่มโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด มากกว่า 1 รายในวันเดียวกัน 2.มีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน เช่น ผู้ป่วยโรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซิส ตาแดงจากการติดเชื้อ ปอดอักเสบเฉียบพลัน (โรคอื่นๆ ที่มีการป่วยเป็นกลุ่มใหญ่และมีโอกาสแพร่ระบาดได้ง่าย) 3.มีผู้ป่วยที่มีไข้และผื่นตามตัว สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส ไข้เลือดออกหรือโรคอื่นๆที่ติดต่อกันได้ง่ายแม้พบเพียง 1 ราย ต้องรายงานทันที 4.มีผู้ที่ป่วยและเสียชีวิต (ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคใดๆก็ตาม) 5.มีเหตุการณ์ผิดปกติอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อสุขภาพ เช่น สัตว์ในที่พักตายเป็นจำนวนมากผิดปกติ พบเห็นสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ ได้กลิ่นเหม็นหรือเห็นควันผิดปกติเกิดขึ้น ฯลฯ เมื่อทีม SRRT ได้รับแจ้งว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น จะลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ทำการสอบสวนและควบคุมป้องกันโรค จากนั้นจะรายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับสูงขึ้นไปทราบ เพื่อดำเนินการระดมทรัพยากรต่างๆ มารักษาชีวิตและทรัพย์สิน บรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย และ ระงับหรือลดความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ระหว่างการลงพื้นที่อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังได้ย้ำเตือนด้วยความห่วงใยให้ประชาชนระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต การพลัดตกน้ำและการจมน้ำเสียชีวิต เนื่องจากประสบการณ์จากน้ำท่วมเมื่อปี 2554ที่ผ่านมา พบว่าไฟฟ้าดูดและการจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด พร้อมทั้งแนะแนวทางปฏิบัติแก่ประชาชนเพื่อการป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำด้วย เช่น ให้สวมเสื้อชูชีพก่อนลงน้ำ ใส่รองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกก่อนลุยน้ำ ล้างมือ ไม่กินอาหารค้างมื้อ ดื่มน้ำสะอาด เก็บเศษอาหารและขยะใส่ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ระวังอย่าให้ยุงกัด ถ้ามีโรคเรื้อรังอย่าลืมรับประทานยาประจำตัว หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ถ้ามีอาการป่วยรีบแจ้งหน่วยแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านอย่าปล่อยไว้เกิน 2 วัน สวมหน้ากากอนามัย และปิดปาก จมูก เวลาเป็นหวัด เมื่อมีอาการท้องเสียให้ดื่มผงเกลือแร่โอ อาร์ เอส หลังน้ำลดอย่าลืมนำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดฯลฯ และได้แจ้งช่องทางสำหรับการขอความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยสามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 ด้านนายแพทย์สมัย กังสวร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดชลบุรี กล่าวว่าปราจีนบุรีเป็น 1 ใน 9 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.3 ชลบุรี ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่นานหลายวัน จึงขอให้ผู้ประสบภัยระวังโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและโรคที่มากับน้ำที่ไม่สะอาด โรคเชื้อรา โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า นอกจากนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ซึ่งมีโอกาสป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด และโรคปอดบวม ขอให้รักษาความอบอุ่นร่างกาย รักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ไม่ตากแดด ตากฝนโดยไม่จำเป็น และหากเปียกฝนหรือเดินลุยน้ำ ขอให้รีบอาบน้ำ เปลี่ยนใส่เสื้อผ้าที่แห้ง และหากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากเหลืองใสเป็นเขียวข้น ให้รีบพบแพทย์ ทันที/. ผอ.สคร.3 กล่าวปิดท้าย กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ