บีโอไอ รุกสานสัมพันธ์แดนมังกร หวังรองรับการลงทุนระหว่าง 2ประเทศ

ข่าวกีฬา Monday September 6, 2004 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอรุกเปิดตลาดการค้าการลงทุนในแดนมังกรเดินหน้าลงนามความร่วมมือกับมณฑลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน หวังสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการลงทุนระหว่างกัน พร้อมยื่นข้อเสนอเปิดการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการรองรับโครงการขนาดใหญ่ คือ มหกรรมกีฬาโอลิมปิคที่มหานครปักกิ่งในปี ค.ศ.2008 และWorld Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ. 2010
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( BOI) ได้เดินทางไปร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU)ระหว่าง BOI กับ CCPIT (China Council for Promotion of International Trade:CCPIT ) ณ นครกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1กันยายน 2547 ซึ่งนับเป็นการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานของจีนเป็นฉบับที่ 6
มณฑลกวางตุ้งจัดเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 28.4 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงถือเป็นตัวจักรสำคัญในการที่ไทยจะเข้ามาสร้างเครือข่ายรองรับทั้งจากไทยไปจีนและจากจีนมายังประเทศไทย ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาภาคการผลิตของไทยได้ส่งออกผลิตภัณฑ์มายังมณฑลกวางตุ้งมากถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มายังประเทศจีน
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางมาที่นครปักกิ่ง โดยเข้าพบกับมาดามหวูยี่ รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจของจีน ได้ทบทวนผลการลงนามเขตการค้าเสรีไทยจีน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546แล้วเห็นว่าทำให้ตัวเลขการค้าของทั้งสองฝ่ายขยายตัวขึ้นเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกันนี้ ไทยได้ขอให้จีนแก้ไขปัญหากฎระเบียบว่าด้วยการตรวจกักกันโรคพืช โดยฝ่ายจีนยินดีที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสินค้าเกษตรที่ประเทศไทย เพื่อให้ขั้นตอนรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพิธีตรวจการที่จีนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในส่วนของการค้าและการลงทุน ได้มีการแลกเปลี่ยน ความเห็นและร่วมตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ดังนี้ ด้านการค้า จะเร่งทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวจาก 10,000ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 ส่วนด้านการลงทุน จีนต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในภาคกลางและตะวันตกของจีน รวมทั้งการลงทุนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเก่า
ส่วนประเทศไทยต้องการให้จีนมาลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยาง ยานยนต์ และอิเล็กโทรนิกส์ พร้อมกับการขอให้จีนเปิดการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการรองรับโครงการขนาดใหญ่ คือ มหกรรมกีฬาโอลิมปิคที่มหานครปักกิ่งในปี พ.ศ 2554และWorld Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2553
การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการลงทุน กับ CCPIT ของมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นการต่อยอดการลงทุน เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่กว้างขวางมาก จึงต้องทำการเจาะตลาดเป็นแต่ละมณฑลโดยที่ผ่านมาบีโอไอ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ กับหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของจีนไปแล้ว 5แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง ยูนนาน เซี่ยงไฮ้ เสฉวน และ เจียงซู โดยมณฑลกวางตุ้งเป็นลำดับที่ 6 ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ทางการค้าของไทย
นอกจากนี้ เลขาธิการบีโอไอ ยังมีกำหนดที่จะเข้าพบรองผู้ว่าราชการเมืองชานตงและรองผู้ว่าราชการเมืองไห่หนาน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างกัน โดยเมืองไห่หนานเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญอันดับหนึ่งของจีน รวมทั้งเป็นแหล่งแร่ไทเทเนี่ยมที่สำคัญด้วย โดยมีแร่ชนิดนี้มากถึงร้อยละ 70 ส่วนมณฑลชานตง เป็นมณฑลที่มีความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมอันดับ 3ของจีน โดยมีอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร ปิโตรเคมีและถ่านหิน เป็นต้น--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ