ธงชาติไทย ความเป็นไทยของคนในชาติ

ข่าวทั่วไป Monday September 6, 2004 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ทุกครั้งที่มีการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา จะมีเสียงร้องเพลงชาติประกอบการบรรเลงดนตรีหรือเฉพาะเสียงร้อง เฉพาะเสียงดนตรี ประกอบการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาด้วยเสมอ และถ้าทุกคนตั้งใจฟังให้ดีจะพบว่าลักษณะนิสัยของคนไทยหลายประการได้รับการบรรจุอยู่ในเนื้อเพลงที่สั้นกระชับนั้น อย่างได้ใจความและได้สุนทรีย์ทางอารมณ์ มิใช่เพียงเท่านั้น หากแต่ในเพลงเดียวกันนี้ ยังได้รวบรวมประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อคงความเป็นชาติของคนไทยไว้พร้อมด้วย นับเป็นความสามารถอย่างสูงของนายพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ หรือ นามเดิมว่า นวล ปราจิณพยัคฆ์ ซึ่งประพันธ์เพลงบทนี้ ไว้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๒ ในโอกาสที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" โดยครั้งนั้น รัฐบาลได้จัดประกวดบทร้องเพลงชาติขึ้น และบทเพลงที่ประพันธ์โดย นายพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ที่ส่งเข้าประกวดในนามของกองทัพบกชนะการประกวดถึงแม้ว่าเพลงชาติไทย จะมีความหมายลึกซึ้ง และมีความไพเราะกินใจดังที่ได้กล่าวนำมานั้น แต่ก็คงไร้ความหมายอย่างแน่นอน หากคนไทยไม่สามารถเชิญธงชาติไทยขึ้นไปโบกสบัดอยู่บนยอดเสาอย่างสง่างามดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ ซึ่งกรณีเช่นนั้นแสดงว่าแผ่นดินไทยไม่มีอธิปไตยอีกต่อไป และเสียงร้องเพลงชาติไทยก็คงจะไร้ความหมาย ธงชาติจึงมีความสำคัญมากเพราะเป็นเครื่องสื่อแสดงถึงอิสรภาพของคนในชาติ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์แห่งเอกราชของประเทศนั้น รัฐนั้น ทั้งยังเป็นสิ่งเชิดชูให้เกิดความงามสง่าแก่ประเทศชาติ ควรแก่ความภาคภูมิใจเป็นจุดรวมแห่งความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ธงชาติจึงเป็นที่เคารพสักการะของทุกคนในชาติ การล่วงละเมิดต่อธงชาติจึงกระทำมิได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นของชาติตนเองหรือของชาติอื่น จากความสำคัญดังกล่าว คนไทยได้ร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันทุกวัน ในเวลาเช้า ๐๘.๐๐ นาฬิกา และ ในเวลาเย็น ๑๘.๐๐ นาฬิกา ในส่วนที่เกี่ยวกับความ เป็นมาของธงไทยนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่จากการสันนิษฐานตามหลักฐานที่มีอยู่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้น ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ใช้ธงสีแดงเป็น ธงชาติไทย ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงพระราชดำริ ว่าเรือหลวงควรจะมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นแตกต่างจากเรือของราษฎร จึงมีพระบรมราชโองการให้บรรดาเรือหลวงทำรูปจักร อันเป็นนามสัญญาพระบรมราชวงศ์ไว้กลางธงพื้นแดง ให้เป็นเครื่องหมายสำหรับเรือหลวง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลาง วงจักรในเรือหลวง ส่วนเรือพ่อค้าอื่นยังคงใช้ธงแดงตามเดิม ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงดำริถึงการใช้ธงแดง ว่าไม่เป็นการสมควร และโปรดให้มีธงเหมือนอย่างเรือหลวง แต่ให้ยกรูปจักรออกเหลือแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ส่วนธงสำหรับพระองค์โปรดให้ใช้พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาว ตรงกลางมีมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูง ๗ ชั้นทั้งสองข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง และใช้ชักบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วยในรัชสมัยต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตราพระราชบัญญัติ ว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) ขึ้นเป็นครั้งแรกธงชาติไทยตามที่กำหนดชื่อเรียกไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ "ธงชาติสยาม" มีลักษณะเป็นรูปธงช้างเผือก พื้นสีแดง ต่อมาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ขึ้นอีก แต่ธงชาติยังคงมีลักษณะเดิม และได้ใช้มาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้เอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เพิ่มสีน้ำเงินอันเป็นสิริแก่พระชนมวารไว้เป็นสีที่สาม ตามลักษณะธงชาติของประเทศที่เป็น สัมพันธมิตร และโปรดให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดลักษณะธงชาติที่เรียกว่า "ธงไตรรงค์" ไว้ดังนี้ คือ เป็นรูป ธง สีเหลี่ยม รี ขนาด กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วนมีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ใน ๓ ของความกว้างของผืนธง และอยู่ตรงกลาง มีแถบสีขาว กว้าง ๑ ใน ๖ ของความกว้างของผืนธงอยู่ถัดไปข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดง กว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอกอีก ข้างละแถบ ความหมายของสีบนผืนธง ประกอบด้วย สีแดง หมายถึง ชาติ และความสามัคคีของคนในชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องอบรมบ่มสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ และสีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุข ของประเทศ ประเทศไทยได้ใช้ธงไตรรงค์ เป็นธงชาตินับแต่นั้นมา แม้ว่าต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรก ในรัชกาล เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาติก็ยังคงใช้ธงไตรรงค์ โดยได้อธิบายลักษณะให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น และในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ ในรัชกาลปัจจุบัน ก็ยังดำรงความหมายเดิมและรูปลักษณะเดิมของธงไตรรงค์ไว้การประดับธงชาติให้เกิดความเรียบร้อยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกนิยมและภูมิใจในความเป็นชาติของคนไทย รวมทั้งยังเป็นการการเผยแพร่ธงชาติไทยให้ปรากฏชินตาแก่ผู้พบเห็น เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นชาติให้ประจักษ์ไปทั่วสากล เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเตือนตนเองให้ตระหนักสำนึกในความเป็นไทยอยู่ตลอดเวลาด้วย--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก ธงชาติไทย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ