ผู้ว่าฯกทม. นำร่องรถเมล์ด่วนพิเศษสายแรกเกษตร-นวมินทร์

ข่าวทั่วไป Wednesday September 8, 2004 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ กทม.เครื่องร้อนลุยตรวจจุดวิกฤตจราจร ระดมสมองผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข 10 แยกซดน้ำมัน เผยรถเมล์ด่วนพิเศษสายแรกเกษตร-นวมินทร์ อีก 1 ปีได้เกิดแน่ พร้อมทำทันทีทางจักรยานบน 2 ถนนสายใหม่ นัดหารือ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เสนอรัฐบาลผลักดันโครงการแก้ปัญหาจราจรของกทม.ให้เชื่อมโยงกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า
เมื่อวานนี้ (7 ก.ย.47) ตั้งแต่เวลา 07.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.นำคณะออกตรวจพื้นที่จุดจราจรติดขัดรุนแรง บริเวณแยกลำสาลี แยกเกษตร แยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน และแยกสาทร-สุรศักดิ์ พร้อมสำรวจเส้นทางเพื่อดำเนินโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT (Bus Rapid Transit System) ถนนเกษตรนวมินทร์ — สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษถนนนราธิวาสฯ — พระราม 3เร่งแก้จราจร 10 แยกซดน้ำมัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการสำรวจแยกที่มีปริมาณรถหนาแน่นโดยรับฟังการบรรยายสรุปจากตำรวจจราจร สน.ท้องที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และสำนักการจราจรและขนส่ง ทำให้ทราบว่าบริเวณหลายแยกสำคัญจะมีโครงการก่อสร้างทางลอด ทางเชื่อม ทางยกระดับต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการประสานกับภาคเอกชนและราชการ เจ้าของที่ดินเพื่อร่วมสร้างจุดจอดรถเพิ่มเติมด้วย
ดังนั้นเพื่อให้มองเห็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดแยกวิกฤตในภาพรวมทั่วกรุงเทพฯ จึงมีการนัดประชุมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง ตำรวจจราจร
ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และภาคเอกชน ในวันพรุ่งนี้ (8ก.ย.47) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์บัญชาการกรุงเทพมหานคร สำหรับแยกจราจรวิกฤตที่เรียกว่า “แยกซดน้ำมัน” 10 อันดับแรกที่กทม.จะเร่งแก้ไข ได้แก่
แยกลำสาสี แยกรามอินทรา กม.8 แยกบางนา แยกเกษตร แยกรัชโยธิน แยกลาดพร้าว แยกพระราม 9 แยกประชาสงเคราะห์ แยกสุรศักดิ์-สาทร และแยกอรุณอมรินทร์
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ( 6 ก.ย.47 ) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำคณะผู้บริหารขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ตรวจสภาพจราจรทางอากาศทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ตามเส้นทางแยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน ถนนเกษตร — นวมินทร์ แยกรามอินทรา ก.ม.8 แยกลำสาลี แยกบางนา ข้ามไปยังฝั่งธนบุรีที่บริเวณสะพานตากสิน บริเวณสถานีขนส่งสายใต้ แยก จรัญสนิทวงศ์ สิ้นสุดการสำรวจที่สะพานพระราม 7
ในการนี้ นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จุดดังกล่าวเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาจราจร ซึ่งจะได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
ผุดรถเมล์ด่วนพิเศษสายแรกเกษตร-นวมินทร์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการรถเมล์ด่วนพิเศษที่จะเกิดขึ้นเป็นสายแรกคือสายเกษตร-นวมินทร์ ความยาว 14 กิโลเมตร ใช้เวลาก่อสร้างฐานรากประมาณ 1 ปี งบประมาณ 700 ล้านบาท หรือ 50 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร มีลักษณะระบบขนส่งมวลชนใช้ผิวจราจรตรงกลางชิดกับเกาะกลาง เป็นเส้นทางเดินรถแยกจากทางเดินรถอื่นอย่างชัดเจน มีเกาะกั้นถาวร ระยะห่างสถานีหยุดรถ 500-800 เมตร ต่อ 1
สถานี ประชาชนสามารถใช้สะพานลอยคนข้ามเพื่อไปยังสถานีซึ่งมีตู้จำหน่ายตั๋วและสถานที่พักคอยอย่างสะดวก สำหรับเส้นทางรถเมล์ด่วนพิเศษพระราม 3 — สะพานกรุงเทพมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการเป็นเส้นทางที่ 2 เนื่องจากมีความพร้อม ถนนกว้างพอที่จะให้ใช้เลนชิดเกาะกลางและสะพานคนเดินข้ามมายังสถานีได้
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนสะดวกยิ่งขึ้นตนจึงเสนอให้มีการเพิ่ม ท่าเรือโดยสารบริเวณที่สะพานกรุงเทพเพื่อเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถเมล์ด่วนพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ จะมีการศึกษาเส้นทางเพื่อจัดโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษเพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นทาง เช่น สายสุวินทวงศ์-ลำสาลี, มีนบุรี-แยกลาดพร้าว, วัดศรีเอี่ยม- ลำสาลี, ดอนเมือง-หลักสี่-หมอชิต, สุวินทวงศ์-มีนบุรี-หลักสี่ เป็นต้นนัดหารือนายกรัฐมนตรีร่วมแก้จราจร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ผลจากการสำรวจเส้นทางและการร่วมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง โครงการต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครจะแก้ไขปัญหาจราจรจะนำเสนอและหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ย.นี้ โดยจะขอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ และจัดสรรงบประมาณสนับสนุน รวมถึงเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ให้ถึงกันทั้งระบบรถไฟใต้ดิน รถไฟลอยฟ้า เรือโดยสาร และรถ ขสมก. นอกจากนี้จะเข้าพบหารือแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย องค์การรถไฟฟ้ามหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า ฯลฯ ด้วยเพิ่มเส้นทางจักรยานให้คนกรุง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการแก้ไขแยกวิกฤตและโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษแล้ว ยังดำเนินโครงการแก้ปัญหาจราจรอื่นๆ ควบคู่ตามที่ ผู้ว่าฯกทม.วางไว้ไปด้วย โดยเฉพาะโครงการเส้นทางจักรยาน ซึ่งกทม.สามารถทำได้ทันทีในถนนสายใหม่ที่กำลังก่อสร้าง เช่น ถนนเลียบชายทะเลบางขุนเทียน และถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 นอกจากนี้ยังมีโครงการเชื่อมโยงรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่าย การจัดทำป้ายจราจรและที่จอดรถอัจฉริยะบอกสภาพการจราจรล่วงหน้า และพื้นที่จอดรถในจุดที่การจราจรติดขัดและจุดเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนรถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้าบีทีเอส
รวมถึงโครงการที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและคนขับรถแท็กซี่ โครงการสร้างเครือข่ายขนส่งมวลชนขนาดเล็ก และเครือข่ายรถโรงเรียนเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว โครงการสร้างทางลอด ทางข้าม ปรับปรุงทางลัดและประสานงานเพื่อลดความแออัดในจุดที่การจราจรติดขัด ตลอดจนโครงการเสริมสร้างวินัยจราจรให้แก่ประชาชนและเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ