อย่าอ้างชื่อกรีนพีซเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กระทรวงเกษตรฯ และเร่งแก้ปัญหามะละกอปนเปื้อน

ข่าวทั่วไป Thursday September 9, 2004 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--กรีนพีซ
สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ กล่าวอ้างกับสื่อมวลชนว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังร่วมมือ
กับกรีนพีซในการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอที่เกิดขึ้นจากการขายเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่า
พระของสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นนั้น กรีนพีซขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 ที่ผ่านมากลุ่ม
อาสาสมัครกรีนพีซได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปนเปื้อนมะละกอ
จีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ รีบจัดการการปนเปื้อนโดยเร่งด่วน เพราะกรีนพีซได้
เปิดเผยข้อมูลการปนเปื้อนมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดยังไม่
ดำเนินการใด ๆ ซึ่งในการยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาในครั้งนั้น กรีนพีซไม่ได้ตกลงร่วมมือในการ
แก้ปัญหาการปนเปื้อนตามที่ ฯพณฯ กล่าวอ้าง โดยกระทรวงเกษตรไม่เคยติดต่อประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยน
ข้อมูลหรือขอความร่วมมือกับกรีนพีซแต่อย่างใด
ทั้งนี้กรีนพีซเป็นองค์กรที่ทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และหากพบว่ามี
การกระทำผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ และเรียกร้องให้ผู้ที่ก่อมลพิษและ
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบจัดการแก้ปัญหา ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ที่ทำให้มะละกอจีเอ็มโอหลุดรอด
ออกสู่สิ่งแวดล้อมคือกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตรจึงไม่ควรผลักภาระความ
รับผิดชอบให้กับผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่น
ต่อกรณี ฯพณฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันอังคาร ที่ 7 กันยายน 2547 ขอให้ประชาชนที่
สงสัยว่ามะละกอของตัวเองจะมีจีเอ็มโอปนเปื้อนนำมะละกอมาให้กรมวิชาการเกษตรตรวจ โดยจะได้ทราบผล
ภายใน 1 วันนั้น กรีนพีซ ในฐานะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานภายใต้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ขอ
ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ ฯพณฯ ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่มีห้องปฏิบัติการใด
ในโลกที่สามารถตรวจพืชจีเอ็มโอได้เสร็จภายในหนึ่งวัน
ทั้งนี้ในการตรวจสอบพืชจีเอ็มโอสามารถทำได้ 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกทดสอบยีนดัดแปลง
พันธุกรรมที่ปรากฎอยู่ในพืชจีเอ็มโอทุกชนิด เช่น 35s promoter, NOS terminator และ maker gene
โดยใช้เวลา 3 วัน เมื่อผลการตรวจเป็นบวก จะต้องมีการทดสอบในขั้นต่อไปที่เรียกว่า polymerase chain
reaction หรือ พีซีอาร์ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์
ดังนั้นการที่นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ใต้บังคับบัญชาของ ฯพณฯ ท่าน
กล่าวว่าจะมีการเก็บตัวอย่างมะละกอจำนวน 40 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่าไม่มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ และจะเก็บ
ตัวอย่างมะละกอ 600 ตัวอย่างโดยตรวจสอบให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์นั้น เป็นการตรวจสอบที่หวังผลโฆษณาชวนเชื่อ หากกรมวิชาการต้องการพิสูจน์และตรวจสอบการปนเปื้อนต้องมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางเข้าไปเก็บตัวอย่างในแปลงเกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระไปจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการอิสระที่เชื่อถือได้ ด้วยวิธีการที่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์
ส่วนกรณีที่ ฯพณฯ ได้กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรไม่ได้ทดลองมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด มีแต่การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้น เป็นการ "บิดเบือน" ข้อเท็จจริง เนื่องจาก ฯพณฯ ย่อมประจักษ์แก่สายตาตัวเองในการไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ และตรวจสอบการปฏิบัติงานของนักวิจัยที่สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ว่า ภายในสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นมีการทดลองมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ซึ่งมีเพียงรั้วลวดหนามและต้นกล้วยเป็นแนวกำบังลม นก และแมลงเท่านั้น รวมทั้ง ฯพณฯ ยังได้รับประทานมะละกอจีเอ็มโอเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
สุดท้ายนี้กรีนพีซขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ "แก้ปัญหา" ด้วยการยอมรับความจริงว่า หน่วยงานภายใต้
สังกัดของ ฯพณฯ ละเมิดมติคณะรัฐมนตรีห้ามทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา และ พ.ร.บ. กักพืช ที่อนุญาตให้นำเข้า
มะละกอจีเอ็มโอเพื่อการวิจัยเท่านั้น แต่กลับมีมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนอยู่ในเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระที่
สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นขายแก่ประชาชนทั่วไป และต้องยอมรับความจริงว่าการปนเปื้อนจีเอ็มโอเกิดขึ้นแล้ว
กระทรวงเกษตรฯ ต้องตามไปตรวจสอบและทำลายมะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอในไร่นาเกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์
มะละกอแขกดำท่าพระไปจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์
โดยไม่รู้ว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ และต้องเปิดเผยสัญญาเกี่ยวกับมะละกอจีเอ็มโอที่กระทรวงเกษตรฯ ทำไว้กับ
สถาบันการศึกษาและบริษัทข้ามชาติอื่นๆ เพื่อให้คนทั้งชาติได้ร่วมตัดสินใจในผลประโยชน์ของประเทศชาติอีก
ด้วย--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ