สภาผู้แทนฯ ผ่านร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...

ข่าวทั่วไป Wednesday October 17, 2012 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ในที่สุดสิ่งที่ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้รักสัตว์รอคอยก็ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์จำนวน 325 ต่อ 0 เสียง รับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ... ซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน นำโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ซึ่งมี นายธีรพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ และนายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เป็นเลขาธิการในการประชุมสมัยสามัญทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 20 ประจำวันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2555 ภายหลังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับมติต่างๆ ของการทารุณสัตว์ในประเทศไทย โดยแต่ละท่านได้กล่าวชื่นชมภาคประชาชน ที่นำโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ที่ได้รณรงค์ช่วยเหลือและต่อสู้คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยขาดความช่วยเหลือใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐ และต่างอภิปรายให้รัฐสภาได้ช่วยสนับสนุนให้พระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดเป็นกฎหมายให้ได้ ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระที่ 1 พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด 36 คน โดยกำหนดให้ภาคประชาชนจำนวน 12 คน คณะรัฐมนตรี 6 คน พรรคฝ่ายค้าน (ปชป.) 6 คน พรรคเพื่อไทย 9 คน พรรคอื่นๆพรรคละ 1 คน เพื่อพิจารณายกร่างรายละเอียดของแต่ละมาตรา โดยคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวจะจัดประชุมนัดแรกที่รัฐสภา ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2555 ในการเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธาน นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะผู้แทนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน ได้กล่าวถึงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมจึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้เพื่อแสดง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครอง ตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องมี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ... เพื่อส่งเสริมจริยธรรม การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต ตลอดถึงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง และการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศในฐานะที่เป็นประเทศอารยธรรมในสังคมโลกต่อไป และฝากความหวังไว้กับสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้ ส่วนสาระสำคัญของร่าง พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...มีดังนี้ 1. กำหนดนิยามคำว่า “สัตว์” “การทารุณกรรม” “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” และ “องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์” เป็นต้น 2. กำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 3. กำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์มีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ 4. กำหนดให้ผู้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันมีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ 5. กำหนดมาตรการห้ามมิให้กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร 6. กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม และมิให้ปล่อยละทิ้งหรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมทั้งเจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการขนส่งสัตว์หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง 7. กำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นสถานที่และตรวจยานพาหนะเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์หรือยึด อายัดสัตว์ หรือซากสัตว์ตามที่ได้รับแจ้งหรือเหตุอันควร 8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษเกี่ยวกับความผิดกรณีการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุสมควร กรณีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และกรณีไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควรและกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ติดต่อ: สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณอรุนฤดี พันขวง โทร. 02-255-5805

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ