ม.อ. วิทยาเขตปัตตานีติวเข้มชุมชนอ่าวปัตตานี สร้างเครือข่ายชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2012 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ผนึกองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่อ่าวปัตตานี ทำโครงการ การพัฒนาศักยภาพกลไกและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี มุ่งเน้นให้ความรู้ชุมชนเกี่ยวกับภัยพิบัติ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี (Mr. Somporn Chuai-aree, Department of Mathematics and Computer Science Faculty of Science and Technology, Prince of Songkla University, Pattani Campus) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า นักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานี ได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีจำนวน 16 ชุมชน ดำเนินโครงการ “การพัฒนาศักยภาพกลไกและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี” หรือ PattaniBay Watch-PBWatch โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่ได้จัดทำขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนติดตั้งกลไกเชิงระบบที่เกิดจากศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของชุมชนได้เตรียมพร้อมในการตั้งรับกับภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคต และลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติ การฟื้นฟู การป้องกัน เช่น การปลูกป่าชายเลนเพื่อลดความแรงของคลื่น รวมถึงการสร้างจิตสำนึกเพื่อชุมชน และการใช้ระบบสารสนเทศในการสื่อสารและการประเมินสถานการณ์ ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับนักวิชาการได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ โดยที่ผ่านมาได้มีการอบรมความรู้พื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีให้แก่ชาวบ้านในชุมชนไปแล้วกว่า 400 คน นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้งานวิจัยเกี่ยวกับการจำลองแบบ การแสดงภาพเหมือนจริง ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยเป็นบูรณาการความรู้ด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ “หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติในปี 2553 ที่สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและบ้านเรือนจำนวนมาก รอบอ่าวปัตตานี เราจึงคิดริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านในชุมชนกับการรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาใช้อบรมและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มาปรับกระบวนการนำเสนอให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยมีการจัดทำแบบจำลองตัวอย่างของพื้นที่แบบง่ายๆ มาให้เห็น เช่น น้ำท่วมจะไหลมาจากทางไหนและมีสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ชาวบ้านมองเห็นปัญหาของส่วนรวมที่ต้องแก้ไขร่วมกัน มากกว่าการซื้อกระสอบทรายกั้นน้ำเข้าบ้านที่ทำให้น้ำท่วมรุนแรงและยาวนานขึ้น” ดร.สมพร กล่าว นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า สำหรับในช่วงฤดูฝนที่จะเริ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ทาง ม.อ.ได้ติดตั้งสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติจำนวน 7 สถานี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเก็บข้อมูลและประมวลผล และจัดให้แต่ละชุมชนได้นำเสนอแผนรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการช่วยฝึกให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิดแผนจัดการชุมชนของตนเอง เพื่อลดการสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้นจริง
แท็ก ภัยพิบัติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ