‘ปูนอินทรี’ จัดประกวดแบบบ้าน 25 องศา-อยู่เย็นได้โดยไม่ต้องมีแอร์ นักศึกษา ม. ศิลปากร ไอเดียเจ๋ง สร้างได้จริง คว้ารางวัลชนะเลิศ

ข่าวอสังหา Wednesday October 24, 2012 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ปูนอินทรีจัดการประกวดออกแบบระดับอุดมศึกษา ‘Young Creative INSEE Contest 2012’ ภายใต้แนวคิด ‘บ้าน 25 องศา’ สร้างบ้านอยู่เย็นสบายได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ รับสภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงาน เน้นความคิดสร้างสรรค์และนำไปใช้สร้างได้จริง เผยนิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 150 ทีม ตัดสินโดยสถาปนิกชื่อดัง ทั้งดวงฤทธิ์ บุนนาค - ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ - สิงห์ อินทรชูโต - อรรจน์ เศรษฐบุตร ผลนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยผลงานที่ชื่อว่า Simple is the Best รับทุนการศึกษา 100,000 บาท นางสาวจันทนา สุขุมานนท์ รองประธานบริหาร การตลาดและงานขาย บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี เปิดเผยว่า ปูนอินทรีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกของนักออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้โลกน่าอยู่ โดยได้จัดการประกวดออกแบบบ้านระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ ‘Young Creative INSEE Contest 2012’ ภายใต้แนวคิด 25 Degree House หรือ “บ้าน 25 องศา” เพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันได้ออกแบบที่อยู่อาศัยที่สามารถ “อยู่เย็น-อยู่สบาย” ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ และปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุในการก่อสร้างเพื่อรักษาอุณหภูมิบ้านที่ 25 องศา อีกทั้งยังสามารถประยุกต์การใช้วัสดุท้องถิ่นในการตกแต่งเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด “ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เพราะอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของไทย เราจำเป็นต้องออกมารณรงค์สร้างจิตสำนึกผ่านนักออกแบบคนรุ่นใหม่ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลดการใช้พลังงาน โดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ในงานออกแบบบ้าน” นางสาวจันทนา กล่าว รองประธานบริหาร การตลาดและงานขาย ปูนอินทรี กล่าวด้วยว่า การประกวดดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 จากผู้สมัครกว่า 150 ทีมทั่วประเทศ คัดเหลือ 10 ทีมสุดท้าย โดยมีทีมจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมทำกิจกรรมเวิร์คช็อป กับ ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งเป็นการเพิ่มความรู้ให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้นำไปปรับใช้ในงานออกแบบที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต สำหรับคณะกรรมการในรอบตัดสินนั้น ปูนอินทรีได้รับเกียรติจากสถาปนิกชื่อดังถึง 4 ท่าน คือ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ประธานอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สภาสถาปนิก, คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง กลุ่ม CASE : Community Architects of Shelter and Environment, ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร จากภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเกณฑ์การตัดสินจะให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ 60% (การประหยัดพลังงาน การบำรุงรักษาซ่อมแซม และความสวยงาม) และอีก 40% มาจากความเป็นไปได้ในการนำไปก่อสร้างจริง โดยสามารถเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความสวยงามในการก่อสร้าง ผลการตัดสินปรากฏว่า ผลงาน ‘Simple is the Best’ ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ประกอบด้วยสมาชิก คุณเจนจิรา กันภัย, คุณกัลมลี ธรรมิกบวร, คุณณัฎฐิ์ณิชชา เจิมพิพัฒน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ‘บ้านบ้าน’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประกอบด้วยสมาชิก คุณฐิติพงศ์ เอื้อมิตร, คุณสุพีรณัฎ ถาแก้ว, คุณธนพร พันธุ์นารา และรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ผลงาน ‘Flow-House’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรและผลงาน ‘บ้าน 25 องศา’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนรางวัลป๊อปปูล่าโหวต ได้แก่ ผลงาน ‘Inverse House’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ ‘บ้าน 25 องศา’ ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สำหรับผู้ที่ชนะเลิศ ‘Young Creative INSEE Contest 2012’ จะได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ทุน 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้ทุน 25,000 บาท และรางวัลชมเชยอีก 6 รางวัล ทุนละ 5,000 บาท และรางวัลป๊อปปูล่า โหวต 1 รางวัล เป็นเงินรางวัล 10,000 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ