คุมเข้มอาหารเข้าออสเตรเลีย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2012 18:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งออกไทย-ออสเตรเลียพุ่งสวนกระแสขยายตัวกว่า 5% เผยวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อผู้บริโภคออสเตรเลียในการซื้อสินค้าออนไลน์ ท่องเที่ยว การนำเข้า ชี้ชาวออสซี่มีเงินออมสูง นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.)ของปี 55ว่า การค้ามีมูลค่ารวม 9,876 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(338,357 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 5,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(185,668 ล้านบาท)หรือ เพิ่มขึ้น 5.4% และการนำเข้ามูลค่า 3,893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 121,905 ล้านบาท) หรือ ลดลง29%โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นอัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์บาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย ได้แก่ น้ำมันดิบซึ่งมีมูลค่ากว่า 890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 42%เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ถ่านหิน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนปะกอบ และนมและผลิตภัณฑ์นม “วิกฤตเศรษฐกิจในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้ค่าเงินออสเตรเลียยิ่งแข็งค่าขึ้นส่งผลดีต่อผู้บริโภคออสเตรเลียในการซื้อสินค้าออนไลน์ ท่องเที่ยว การนำเข้า และการลงทุนในยุโรป รวมถึงจำนวนแรงงานที่มีคุณภาพจากยุโรปที่ต้องการทำงานในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นด้วย”นางศรีรัตน์ กล่าวและว่า ในด้านการค้าออนไลน์นั้น กรมฯได้มีแผนงานรองรับการเพิ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เปิดทำการค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นในเว็บไซต์ thaitrade.com ซึ่งขณะนี้มีจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพมาตรฐานการส่งออกจำนวนกว่า 6,616 ร้านค้า ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 72,200 รายการ สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลีย กลุ่มสินค้าอาหารจากไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากสินค้าอาหารเป็นสินค้าจำเป็น และออสเตรเลียนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2554 นำเข้าเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้าและในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาออสเตรเลียได้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปคิดเป็นมูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น11% รวมทั้งหากมีแรงงานจากยุโรปเข้ามาทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยรวม จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคออสเตรเลียลดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นส่งผลให้อัตราการออมในออสเตรเลียสูงขึ้นจากที่สูงมากอยู่แล้วในปัจจุบัน (มากที่สุดในรอบ 20 ปี) ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในออสเตรเลียเช่น ค้าปลีก (แฟชั่น) ท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งปัจจุบัน ประสบปัญหาสภาพคล่อง อาจประสบภาวะชะลอตัว และส่งผลให้การประกอบธุรกิจมีอัตราความเสี่ยงสูง และอาจส่งผลต่ออัตราการว่างงานในระยะยาวได้ อย่างไรก็ดีในอีกทางหนึ่งก็จะส่งผลกระทบทางบวก จากการที่นักลงทุนชาวยุโรปจำเป็นต้องเทขายสินทรัพย์ในออสเตรเลียและทวีปเอเชีย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนชาวออสเตรเลียสามารถซื้อสินทรัพย์เหล่านั้น และอาจซื้อได้ในเงื่อนไขและราคาที่เป็นประโยชน์สำหรับการลงทุนต่อไปในอนาคต ล่าสุดกรมฯได้นำหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 43 รายเข้าร่วมงาน Fine Food Australia 2012 ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในทวีปออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ได้รับความสนใจ อาทิ ข้าวสาร วุ้นเส้น บะหมี่ เครื่องแกงสำเร็จรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น ทั้งนี้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงถึง 41,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตก โดยไทยเป็นคู่ค้าที่ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าในอันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น “ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นเกาะและเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีการใช้มาตรการสุขอนามัย(Bio Security Quarantine Measures)ที่เคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องแมลงและโรคที่จะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศมีปัญหา ปัจจุบันผักและผลไม้สดของไทยส่วนใหญ่ยังนำเข้าไม่ได้ ยกเว้น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะพร้าวอ่อน ทุเรียนแช่แข็งและข้าวโพดอ่อน นอกจากนี้ออสเตรเลียมีกฎระเบียบการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบบ้างบางครั้งเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในการส่งสินค้าไปยังออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามกฎระเบียบและติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด มีบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตาและจับตลาดสินค้าลักษณะพิเศษที่อยู่ในกระแสความนิยมเช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและอาหารเอเชีย จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปในตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น” นางศรีรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ