งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการช่วยเหลือทารกเกิดก่อนกำหนดฯ

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2012 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สปินเลอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์และทารกเกิดก่อนกำหนด คณะทำงานฯ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเดินหน้าระดมทุนยกระดับการอภิบาลทารก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ “โครงการช่วยเหลือทารกเกิดก่อนกำหนด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ” ภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และพัฒนาการดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีภาวะจอประสาทตาเสื่อมในเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยให้ทารกเกิดก่อนกำหนดมีโอกาสได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียร้ายแรงที่ทำให้ทารกเกิดก่อนกำหนดมีสายตาพิการ ตลอดจนมอบโอกาสให้ทารกเหล่านี้มีการเจริญเติบโตที่แข็งแรงสมบูรณ์เป็นกำลังหลักของประเทศชาติต่อไป วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕: ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามของประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนทีปังกรนภัทรบุตรเปิดเผยว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่จำนวนทารกเกิดก่อนกำหนดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความไม่พร้อมของสตรีตั้งครรภ์ในเรื่องการดูแลตนเอง ส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สายตาพิการ โรคปอดเรื้อรัง และร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนี้ปัจจุบันในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งของประเทศยังขาดแคลนแพทย์ และพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์และทารกเกิดก่อนกำหนดในหออภิบาล คณะกรรมการจึงได้จัดทำ “โครงการช่วยเหลือทารกเกิดก่อนกำหนด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ” ภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อจัดหางบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ อีกทั้งยังต้องการเผยแพร่ปัญหาภาวะคลอดก่อนกำหนดไปให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนัก และมีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกัน รวมทั้งให้การสนับสนุนแก่ทารกเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น “นอกจากเป็นการระดมทุนโดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ผมต้องขอขอบคุณ จิตอันบริสุทธิ์ของเหล่าศิลปินที่ได้พร้อมใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมในการจัดแสดงนิทรรศการประมูล และ จัดจำหน่าย เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดในทุกมิติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และเนื่องจากเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย จึงได้ดำเนินงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ” อีกด้วย ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร กล่าว ทั้งนี้โครงการดังกล่าวฯ เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยม หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัท คริสตี้ส์ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประมูลศิลปะวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และได้กำหนดกิจกรรมเพื่อการระดมทุนทั้งหมด ๓ กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ ๑ การจัดแสดงผลงานศิลปกรรมกว่า ๒๒ ผลงาน โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงและศิลปินชั้นเยี่ยมของประเทศจำนวน ๑๒ ท่าน จากการเข้ารับฟังการบรรยายสรุป “ชีวิตของทารกเกิดก่อนกำหนด” และการเข้าเยี่ยมชมพร้อมกับให้กำลังใจแก่แพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในหออภิบาลทารกแรกเกิดโรงพยาบาลศิริราช และผลงานสร้างสรรค์เฉพาะตัวของศิลปินอาวุโส ศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินระดับแนวหน้าของประเทศ จำนวน ๓๑ ผลงานผลงานศิลปกรรมทุกชิ้นจะถูกนำไปจัดแสดงและจำหน่ายในนิทรรศการศิลปกรรม “โครงการช่วยเหลือทารกเกิดก่อนกำหนด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ” ภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๒ ธันวาคม ศกนี้ ซึ่ง นางสุภัททา สังสิทธิ ผู้อำนวยการ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเปิดเผยว่า เป็นพระกรุณาธิคุณที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการฯ ด้วยพระองค์เอง กิจกรรมที่ ๒ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากศิลปินแห่งชาติ ศาสตรเมธี นนทิวรรรธน์ จันทนะผะลินในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า “พ่อของแผ่นดิน” ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้วเพื่อจำหน่ายให้กับผู้สั่งจองในราคา ๑๒,๙๙๙ บาทโดยประติมากรรมดังกล่าวถูกสร้างสรรค์ขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง ๙๙๙ ผลงานเท่านั้น โดยศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ ได้เปิดเผยถึงแนวคิดของการสร้างสรรค์ผลงานว่า “รูปประติมากรรมองค์ใหญ่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนประติมากรรมเด็กนั่งตักหมายถึงปวงชนชาวไทย ความหมายโดยรวม คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีจุดมุ่งหมายหลักในการดูแลปวงชนชาวไทยด้วยความรัก ความเมตตา เอื้ออาทร ให้มีความสุข สงบโดยทั่วกัน” สำหรับท่านผู้มีจิตอันเป็นกุศลสามารถสั่งจองผลงานดังกล่าวได้ที่ศิริราชมูลนิธิ และร้าน ณ ศิริราช กิจกรรมที่ ๓ เป็นการนำผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์โดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินชั้นนำของประเทศจำนวน ๓๓ ผลงานขึ้นประมูลเพื่อนำรายได้เข้าสมทบกองทุนทีปังกรนภัทรบุตรในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๖ ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี โดยมี นางเยาวณี ช่อวิเชียร บริษัทคริสตี้ส์ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประมูลศิลปะวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในโลกทำหน้าที่ดำเนินการประมูลได้กล่าวว่า “นอกจากผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่ผู้ประมูลจะได้เป็นเจ้าของแล้วนั้น ดิฉันอยากขอเชิญท่านที่มีจิตเมตตาและเป็นกุศลได้ช่วยกันซื้อผลงานศิลปกรรม ตามกำลังศรัทธาเพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนด เป็นการยกระดับการอภิบาลทารกเกิดก่อนกำหนดของประเทศให้มีความก้าวหน้าต่อไป” นางเยาวณี ช่อวิเชียร กล่าว ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธราธิป โคละทัต ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน และฝ่ายพิธีการเปิดเผยว่า รายได้จากกิจกรรมระดมทุน ส่วนหนึ่งจะนำไปพัฒนาระบบดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีภาวะ จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุจากการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งยังขาดแคลนจักษุแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยโรค การสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาความผิดปกติของ จอประสาทตา นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทารกเหล่านี้ได้เข้าถึงการรักษาที่เป็นมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ ยังเป็นการจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่จำกัดในแต่ละเขตภูมิภาค ให้เป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย “ในโครงการฯ นี้ โรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยจะจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมพร้อมกับอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยโรคไปกับรถพยาบาล เพื่อเข้าไปทำการตรวจวินิจฉัยโรค ณโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายของตนเอง เช่น โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด ภาพถ่ายจอประสาทตาจะถูกส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนตไปให้จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้การวินิจฉัยโรค หากพบความผิดปกติที่ต้องทำการรักษา เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเตียงในหออภิบาลของโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย กุมารแพทย์ และทีมส่งต่อจะส่งทารกมารับการรักษาจอประสาทตาในโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย เมื่อแล้วเสร็จจะส่งทารกกลับไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเดิม ด้วยระบบดังกล่าวนอกจากจะช่วยแก้ไขเรื่องการขาดจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ การขาดแคลนเตียงในไอซียูแล้ว พ่อแม่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาดูแลบุตร ของตนเอง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและโรงพยาบาลอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธราธิป กล่าวเสริม เกี่ยวกับโครงการฯ โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดา และทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนทารกเกิดก่อนกำหนดที่มากเกินกว่าจำนวนเตียงในโรงพยาบาลจะรองรับได้ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกไทยเสียชีวิตมี ดังนั้นในระยะเริ่มดำเนินการ โรงพยาบาลศิริราชร่วมกับโรงพยาบาลในเขตธนบุรี จึงได้ริเริ่มหารือกัน เพื่อจัดตั้งเชื่อมโยงการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์และทารกเกิดก่อนกำหนดในรูปเครือข่าย เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้ทรงรับทราบ ถึงปัญหา จึงมีพระดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมบูรณาการระบบดูแลรักษาสตรี ตั้งครรภ์ และทารกเกิดก่อนกำหนด โดยทรงประทานตราสัญลักษณ์ รวมทั้งพระนามย่อ “ศร” มาเป็นตราสัญลักษณ์ของโครงการฯ ที่สำคัญคือทรงประทานแนวความคิด ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้นำมาเป็นหลักการในโครงการนี้ กล่าวคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัยควรสอนหญิงตั้งครรภ์ให้สามารถดูแลตนเองและทารกในครรภ์ให้ได้ดี และต้องช่วยกันพัฒนาระบบดูแลรักษาในโรงพยาบาลชุมชน และเชื่อมโยงไปที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือ โรงพยาบาลในในสังกัดของมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้การคลอดมีความปลอดภัยต่อทั้งมารดาและบุตรมากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ